คณะแพทย์ รามา แนะนำวิธีป้องกันมะเร็งมดลูก และ มะเร็งไข่ในผู้หญิง ที่ยังไม่มีลูก

คณะแพทย์ รามา แนะนำวิธีป้องกันมะเร็งมดลูกและมะเร็งไข่ในผู้หญิง ที่ยังไม่มีลูก

ในผู้หญิง เมื่อมีการเจริญเติบโตขึ้น ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงด้านสังคม ารพัฒนาของระบบเจริญพันธุ์ เกิดการตกไข่และมีประจำเดือน สามารถตั้งครรภ์และมีบุตรได้ กระบวนการเจริญสู่วัยสาว ทำให้เกิดอาการทางร่างกายที่เด็กหญิงไม่เคยประสบมาก่อน เช่น อาการคัดตึงของเต้านม จากการกระตุ้นของฮอร์โมนที่สร้างจากรังไข่ อาการปวดท้องน้อยข้างเดียวจากการตกไข่ อาการปวดหน่วงขณะมีประจำเดือนอันเกิดจากมดลูกบีบตัว

ในแต่ละรอบเดือน รังไข่จะสร้างฮอร์โมนเพศหญิงปริมาณมหาศาล ฮอร์โมนเหล่านี้จะไปกระตุ้นอวัยวะของความเป็นหญิง เช่น เต้านม มดลูก ปีกมดลูก และอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ในสตรีบางคนการกระตุ้นของฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้เกิดภาวะบางอย่าง เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งมักร่วมกับอาการปวดประจำเดือนอย่างมาก ฮอร์โมนอาจกระตุ้นการเจริญของเนื้องอกในตัวมดลูกและเต้านม ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกให้หนาขึ้นจนกลายเป็นมะเร็งได้

การกระตุ้นให้เนื้องอกในมดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือในรายที่เป็นมะเร็งเต้านม อาจกระตุ้นให้มะเร็งแพร่กระจาย สภาวะเหล่านี้จะลดน้อยลง หรือหายไปได้หากปราศจากการกระตุ้นของฮอร์โมนเพศหญิงในรายที่เป็นมะเร็งมดลูก หรือเต้านมจำเป็นต้องกำจัดแหล่งที่มาของฮอร์โมนเพศหญิงให้หมด และอาจจำเป็นต้องผ่าตัดรังไข่ออกทั้งสองข้างหรือให้ยาต่อต้านฮอร์โมนเพศหญิง

ในสตรีโสดการทำงานของรังไข่ จะเป็นไปตามรอบเดือนอย่างต่อเนื่อง จึงมีความเสี่ยงจะเกิดภาวะอันเกิดจากฮอร์โมนเพศหญิงได้สูง เช่น เกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เยื่อบุโพรงมดลูกหนา เป็นถุงน้ำหรือก้อนที่เต้านม ติ่งเนื้อหรือเนื้องอกของตัวมดลูก ซึ่งภาวะเหล่านี้จะพบมากขึ้นตามอายุ ในสตรีโสดที่อายุเกิน 40 ปี อาจตรวจพบเนื้องอกตัวมดลูกได้ถึงร้อยละ 30-50

มะเร็งสตรีที่ร้ายแรง คือ มะเร็งรังไข่และมะเร็งเต้านม พบในสตรีโสดมากกว่าสตรีที่เคยตั้งครรภ์คลอดบุตร มีที่มาจากการที่รังไข่ทำงานและตกไข่ทุกเดือน ทำให้มีการบาดเจ็บซ้ำซ้อนที่เปลือกของรังไข่ และเชื่อว่าเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เปลือกรังไข่จนกลายเป็นมะเร็งได้ การตั้งครรภ์และคลอดบุตร จึงเป็นการให้รังไข่ได้พักงาน เพราะระหว่างการตั้งครรภ์จะไม่มีการตกไข่ ไม่มีประจำเดือน อาการเจ็บปวดจากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ก็จะทุเลาจนหายไปในระหว่างตั้งครรภ์

หลังจากการคลอดแล้วการให้นมบุตรเป็นเวลานานๆ ก็ถือว่าเป็นการทำให้รังไข่ได้พักงาน สตรีส่วนใหญ่ที่เลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาเป็นเวลานาน มักอยู่ในภาวะไม่มีประจำเดือน ซึ่งถือเป็นการคุมกำเนิดโดยธรรมชาติ เพื่อให้แม่ได้พักมดลูกและลูกมีโอกาสได้รับการดูแลเต็มที่จนเติบใหญ่พอที่จะอยู่รอดได้เอง ภาวะเช่นนี้พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไป เช่น อุรังอุตัง เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นเวลาหลายปี ดังนั้น ลูกตัวต่อไปจึงมีระยะห่างจากลูกตัวแรกหลายปี

 

 นอกจากตั้งครรภ์และการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดาอย่างเดียวเป็นเวลานาน (เหมือนลิง) แล้ว สตรีอาจทำให้รังไข่และมดลูกได้พักงานด้วยการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด การกินยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม สามารถคุมกำเนิดโดยยับยั้งการตกไข่ สตรีที่ใช้ยาฉีดคุมกำเนิดมักไม่มีประจำเดือน เนื่องจากรังไข่และมดลูกหยุดทำงาน ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพอย่างมาก เช่น ไม่มีอาการปวดท้องจากการตกไข่ หรือรอบเดือนไม่มีภาวะโลหิตจาง (เนื่องจากเลือดประจำเดือนออกน้อย หรือไม่มีประจำเดือน) ลดอุบัติการณ์ของการเกิดเนื้องอกตัวมดลูกและถุงน้ำในเต้านม ลดอุบัติการณ์ของมะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ผลดีต่อสุขภาพเหล่านี้ขึ้นกับระยะเวลาการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด ถ้าใช้เป็นระยะเวลาสั้นๆ อาจไม่ได้รับผลดีเท่ากับการใช้ระยะเวลานานๆ

สรุป การให้รังไข่และมดลูกได้พักงาน มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมาก เพราะช่วยลดการเจ็บปวดอันเกิดจากรอบเดือน และลดความเสี่ยงต่อการเป็นเนื้องอกและมะเร็งในสตรี โดยสตรีที่แต่งงาน ตั้งครรภ์ คลอดบุตร และเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดานานๆ ถือเป็นการพักงานรังไข่และมดลูกตามธรรมชาติ ส่วนสตรีโสดอาจใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิดเป็นเวลานาน ก็ถือเป็นการพักงานรังไข่และมดลูกได้เช่นกัน

ผศ.สัญญา ภัทราชัย

ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา

คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี