ปลายฝนต้นหนาว ระวังเด็ก ๆ เป็นปอดบวม

ปลายฝนต้นหนาว ระวังเด็ก ๆ เป็นปอดบวม

โรคปอดบวมนั้น หากเกิดขึ้นในผู้ใหญ่แล้วก็ยังไม่ค่อยน่ากังวลเท่าไรนัก เพราะร่างกายผู้ใหญ่มีความแข็งแรงและมีภูมิต้านทานโรคมากกว่า แต่หากเป็นเด็กแล้วก็มีอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตสูงอยู่มาก ดังนั้นในช่วงปลายฝนต้นหนาว ตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม จึงเป็นช่วงที่ต้องเฝ้าระวังมิให้ลูก ๆ หลานติดเชื้อปอดบวมเข้าได้

โรคปอดบวมนั้น สามารถติดเชื้อได้ด้วยการหายใจเอาเชื้อที่ล่องลอยในอากาศเข้าสู่ปอด, ติดเชื้อได้จากการไอจามรดกัน หรือการคลุกคลีใกล้ชิดผู้ป่วย อาการเริ่มต้นจะมีไข้หวัดมาก่อนประมาณ 2-3 วัน แล้วจะมีไข้สูงขึ้น ไอหนัก หายใจหายและถี่

หากเป็นมากจะหายใจจะชายโครงบุ๋ม ในเด็กทารกจะซึม ไม่กินนม บางรายไข้สูงมากอาจจะชักได้ บางรายก็มีเสียงหายใจดังวี๊ด ๆ ปากเขียว เล็บเขียว กระสับกระส่าย ดังนั้นหากเด็กป่วยขึ้นมาในระยะปลายฝนต้นหนาว คุณพ่อคุณแม่จึงต้องดูแลหรือพาไปพบแพทย์โดยเร็ว หากมิเช่นนั้นแล้วอาจลุกลามรุนแรงขึ้นไปเป็นโรคอื่น ๆ เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือหูอักเสบได้ นำไปสู่การเสียชีวิตได้เลยทีเดียว

ในส่วนของการรักษาแพทย์จะจ่ายยาแล้วให้กลับไปดูแลที่บ้านแล้วจึงนัดมาดูอาการอีกครั้ง ซึ่งการดูแลเด็กที่ป่วยเป็นโรคปอดบวมที่บ้าน ก็ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

– กินยาตามขนาดและเวลาให้เคร่งครัด ด้วยความที่ยามีหลายขนาน จึงต้องอ่านฉลากยาให้ละเอียดก่อนใช้ ห้ามซื้อยามาให้ผู้ผ่วยกินเอง แม้แต่ยาแก้ไอก็ตาม เพราะอาจเกิดอาการแทรกซ้อนเป็นอันตรายได้

– หากเด็กมีไข้สูง ควรให้ยาลดไข้ตามขนาดที่กำหนดมีระยะเวลาห่างกันอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง หากยังไม่ถึงเวลาให้ยาให้ใช้วิธีเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นลดไข้แทน จะช่วยให้เด็กสบายตัวขึ้น

– ให้ลูกจิบน้ำอุ่นบ่อย ๆ ลดอาการระคายคอ และทำให้เสมหะอ่อนตัวขับออกง่าย ไอน้อยลง ป้องกันอาการขาดน้ำและลดไข้ได้ด้วย

– ให้ทานอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย และให้นอนพักผ่อนมาก ๆ รักษาความอบอุ่นของร่างกายด้วย

– นำเด็กไปพบแพทย์ตามนัดและนำยาที่เหลือไปด้วย

ส่วนใหญ่แล้วเด็กที่ป่วยเป็นโรคปอดบวมจะอาการดีขึ้นภายในหนึ่งอาทิตย์แล้วหายเป็นปกติ แต่หากไปพบแพทย์แล้ว 2-3 วันอาการไม่ทุเลาลง ควรพาเด็กกลับไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการอีกครั้ง จะได้ปรับการรักษาให้เหมาะสมต่อไป