นิ้วล็อค ภัยเงียบที่เกิดกับผู้หญิง แพทย์เตือนควรระวัง และย้ำไม่ควรมองข้าม

นิ้วล็อค ภัยเงียบที่เกิดกับผู้หญิง แพทย์เตือนควรระวัง และย้ำไม่ควรมองข้าม

แพทย์เตือนระวัง “โรคนิ้วล็อก” พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบมากในผู้หญิงวัย 40 ปีขึ้นไป ที่ใช้มือทำงานซ้ำๆ และผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือโรครูมาตอยด์ แนะควรพักการใช้มือและออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อมือเป็นระยะ…

เมื่อวันที่ 2 เม.ย.57 นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคนิ้วล็อกเป็นความผิดปกติของนิ้วมือ ที่มีการสะดุดหรือล็อก ไม่สามารถกำหรือเหยียดนิ้วมือได้เป็นปกติ พบในเพศหญิงร้อยละ 80 และพบในเพศชายร้อยละ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป อาจเป็นเพราะผู้หญิงใช้มือทำงานซ้ำๆ มากกว่าผู้ชาย เช่น หิ้วถุงหนักๆ บิดผ้าซักผ้า กวาดบ้านถูบ้าน สับหมูสับไก่ และมีพฤติกรรมเหล่านี้เป็นระยะเวลานานๆ รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ที่เป็นโรครูมาตอยด์มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากขึ้น

อาการของโรคนิ้วล็อก คือในระยะแรกจะมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือกำมือไม่ถนัด หรือกำได้ไม่เต็มที่โดยเฉพาะตอนเช้าหลังตื่นนอน เวลางอที่จะเหยียดนิ้วมือมักจะได้ยินเสียงดังกึก ต่อมาจะมีอาการนิ้วล็อกคือ เวลางอนิ้วจะเหยียดขึ้นเองไม่ได้ มักเกิดกับมือข้างถนัดที่ใช้งาน ซึ่งอาจเป็นเพียงนิ้วเดียว หรือเป็นพร้อมกันหลายนิ้วก็ได้ บางรายอาจรุนแรงถึงนิ้วบวมชา ติดแข็งจนไม่สามารถใช้งานได้

สำหรับวิธีการรักษาโรคนิ้วล็อก มีหลายวิธีขึ้นอยู่กับอาการ และความรุนแรงของโรค การรักษาในระยะแรก คือ การพักการใช้งานของมือไม่ใช้งานรุนแรง การรับประทานยาต้านการอักเสบ การทำกายภาพบำบัด ช่วยลดการอักเสบ และการติดยึดของเส้นเอ็นกับปลอกเอ็น แต่ในกรณีที่เป็นรุนแรงขึ้นอาจจะรักษาด้วยการใช้ยาต้านการอักเสบ ร่วมกับการฉีดสเตียรอยด์เข้าไปบริเวณปลอกเอ็น แต่ถ้าในกรณีที่นิ้วล็อกติดรุนแรง หรือพังผืดหนามาก ฉีดยาจะไม่ได้ผลแพทย์จะพิจารณาใช้วิธีการผ่าตัด

ข้อแนะนำสำหรับวิธีหลีกเลี่ยงโรคนิ้วล็อก คือ ไม่ควรหิ้วของหนักเกินไป ถ้าต้องมีการหิ้วของที่มีน้ำหนักมาก ให้หาผ้าขนหนูรองแล้วหิ้วให้น้ำหนักไม่กดลงที่นิ้วมือมากเกินไป หรือไม่ก็ควรใช้วิธีการอื่นๆทุ่นแรงบ้าง เช่นการอุ้มประคอง หรือใช้รถเข็นลากของหนักแทน สำหรับผู้ที่ต้องใช้มือทำงานเป็นเวลานานมากๆควรมีการพักการใช้มือเป็นช่วงๆ เพราะจะช่วยให้เส้นเลือดไม่เกิดการอักเสบ และบอบซ้ำจนเกินไป ถ้าเกิดอาหารฝืดหรือเมื่อยล้าที่มือ ให้ใช้วิธีแช่มือในน้ำอุ่น ร่วมกับการขยับมือเบาๆ จะทำให้ข้อนิ้วฝืดลดลง ฉะนั้นโรคนิ้วล็อกสามารถป้องกันและรักษาให้หายได้ถ้ารู้จักวิธีดูแลตนเองอย่างถูกต้อง.