รักและเข้าใจผู้ป่วยอัลไซเมอร์
ในประชากรผู้สูงอายุของประเทศไทยนั้น พบผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ถึงร้อยละ 1-2 ของประชากรในช่วงอายุ 60-69 ปี เลยทีเดียวนะคะ ยังไม่พบสาเหตุของโรคและการรักษาก็ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงควบคุมอาการของโรคเท่านั้น ดังนั้นผู้ป่วยโรคนี้จึงต้องมีผู้ดูแล เพราะส่วนใหญ่แล้วจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ที่เข้ามาดูแลจะช่วยให้ผู้ป่วยได้ทานยาอย่างถูกต้องและต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ พาผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามนัด และให้ข้อมูลของผู้ป่วยกับแพทย์ให้มากที่สุดด้วย ซึ่งการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์นี้ก็มักเป็นลูกหลานหรือญาติสนิท และต่อไปนี้คือแนวทางการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ค่ะ
1. ผู้ดูแลที่จำเป็นต้องใช้ความใจเย็นในการดูแลกับทั้งต้องเข้าใจผู้ป่วยอัลไซเมอร์ด้วย เพราะผู้ป่วยจะมีปัญหาเรื่องความจำและการใช้ความคิด ตลอดจนการควบคุมตนเอง อาจมีการเปลี่ยนแปลงในบุคลิกภาพ พฤติกรรม จนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
2. ผู้ดูแลควรให้ความช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวันของผุ้ป่วย เช่น การกินอาหาร การขับถ่าย การอาบน้ำ การสวมเสื้อผ้า และดูแลในเวลาที่ออกข้างนอกเพื่อมิให้หลงกัน
3. ดูแลในเรื่องการใช้ยาและการพาไปพบแพทย์ เพราะบางรายอาจต้องได้รับยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท เช่น ยานอนหลับ ยาลดความซึมเศร้า ผู้ดูแลควรช่วยในเรื่องการทานยาให้สม่ำเสมอและถูกต้อง พาไปพบแพทย์ตามนัด และสังเกตอาการเพื่อรายงานแพทย์ด้วย
4. ดูแลในเรื่องความปลอดภัยและอุบัติเหตุทั้งหลาย
5. ดูแลในเรื่องจิตใจ โดยการให้กำลังใจ ดูแลเรื่องการกินอยู่ การออกกำลังกาย และการหากิจกรรมกับผู้สูงอายุด้วยกัน หากผู้ป่วยความจำยังไม่บกพร่องมากสามารถหากิจกรรมฝึกความจำเพื่อช่วยชะลออาการของโรคสมองเสื่อมได้
6. ผู้ดูแลก็ต้องดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจของตัวเองด้วย เพราะการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์นี้มักทำให้เกิดความเครียดหรือปัญหาทางด้านอารมณ์ขึ้นมาได้ อาจหาคนปรึกษาหรือหาเวลาเป็นส่วนตัวด้วยการสลับสับเปลี่ยนกันดูแลผู้ป่วยบ้างก็น่าจะดีขึ้นได้
เพราะการดูแลผู้ป่วยเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นมูลนิธีโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย จึงได้จัดกินกรรมอบรมให้ความรู้ผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ให้กับญาติหรือผู้เกี่ยวข้องเป็นประจำทุกปีประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายน ด้วยการเชิญวิทยากรที่มีความรู้และประสบการณ์มาบรรยาย ผู้สนใจสามารถติดต่อขอเข้าร่วมงานได้จากสมาคมโดยตรงค่ะ
Leave a Reply