ขจัดความขัดแย้งในที่ทำงาน
เพราะในที่ทำงานคือสถานที่ที่มีคนหลายคนมาอยู่ด้วยกัน เมื่อทุกคนเกิดมาต่างคนก็ต่างมีอีโก้เป็นของตนเอง การมาอยู่รวมกันมาก ๆ ก็อาจมีความขัดแย้งกันขึ้นมาได้ แต่วันนี้เราจะนำเอาหนทางในการสร้างความสามัคคีในองค์กรมาฝากกันค่ะ โดยแนวคิดเหล่านี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานที่อื่น หรือกลุ่มสังคมอื่นได้ด้วยนะคะ
1. มีเป้าหมายเดียวกัน และเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน
ลองตรวจสอบดกว่าเป้าหมายภายในองค์การมีความชัดเจนหรือไม่ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากความต้องการให้องค์กรเข้าไปสู่เป้าหมายให้ได้มากที่สุดหรือเปล่า หรือเกิดจากความผิดพลาดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกันแน่ หากสามารถหาต้นตอและจุดประสงค์ของแต่ละฝ่ายได้ ก็จะสามารถป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
2. พนักงานควรแยกเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวออกจากกัน
โดยมากแล้วความไม่พอใจในเรื่องส่วนตัวนี่ล่ะค่ะที่เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งและการกลั่นแกล้งกันในที่ทำงาน ซึ่งหากเป็นแบบนี้องค์กรคงไปไม่รอด การแก้ไขก็คือการสร้างความรู้จักกันในองค์กรให้มากขึ้น อาจเป็นการไปพักร้อนด้วยกันหรือไปทำกิจกรรมด้วยกัน เพื่อลดแรงเสียดทานระหว่างแผนกให้ได้มากขึ้น อีกทั้งควรพยายามหลีกเลี่ยงการคุยในเรื่องอ่อนไหวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ศาสนา การเมือง เป็นต้น
3. ต้องเป็นองค์กรที่มีความยุติธรรม
เจ้าของกิจการ เจ้าของบริษัท หรือแม้แต่หัวหน้างานควรมีความยุติธรรมให้กับลูกน้อง ให้เกียรติทุกคนเท่ากัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หากต้องการดุคนที่ผิดก็ควรทำในที่สองต่อสอง ไม่ดุด่าประจานต่อหน้าคนอื่นให้เสียใจเสียหน้า เพราะเค้าอาจจะไม่อยู่กับคุณอีกต่อไป รวมไปถึงทำให้พนักงานคนอื่นขวัญหนีดีฝ่อด้วย และหากเป็นความขัดแย้งระหว่างพนักงานด้วยกันเองควรเรียกมาเคลียร์กันด้วยสติและใจเย็น ไม่ใช่ไปท้าตีกันนอกห้องประชุม หาข้อยุติที่เป็นธรรมกับสองฝ่าย เป็น Win-Win Situation เพื่อให้ทุกคนสามารถทำงานต่อไปได้โดยไม่เสียหน้า หรือเสียกำลังใจ รวมไปถึงหากมีปัญหาในองค์กรทุกคนควรหาทางถอยหรือเสียสละบ้าง เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และอย่าลืมว่าการแก้ไขปรับปรุงระบบเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ เรียบร้อยมากขึ้นในอนาคตด้วย
4. มีการจัดการปัญหาอย่างรวดเร็วไม่หมักหมมไว้
ไม่ควรปล่อยปละละเลยให้ปัญหากลายจากเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ หากมีใครสักคนที่เป็นสายสืบในองค์กรที่ช่วยดูแลและแจ้งปัญหาก็น่าจะดีเหมือนกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วปัญหาในการงานมักจะเปิดเผยในเวลาพักเที่ยง ช่วงพักชงกาแฟ หรือหลังเลิกงานไปแล้ว
5. ทำความเข้าใจ
ทำความเข้าใจว่าทุกคนมาจากคนละพ่อละแม่ มีพื้นฐาน มีมาตรฐานและความเข้าใจตลอดจนการตีความ ที่แตกต่างกันได้ รวมไปถึง อายุ การศึกษา มุมมองและความเชื่อก็ทำให้คนเราแตกต่างกันได้เช่นกัน การยอมรับความแตกต่างนี้แล้วพยายามหาทางแก้ปัญหาด้วยสติ จะสามารถป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต และในที่สุดองค์กรก็จะมีความสามัคคีมากขึ้น เพราะต่างคนก็ต่างยอมรับความแตกต่างในกันและกันได้นั่นเอง
Leave a Reply