เข่าเสื่อม.. ยืน เดิน ขยับ ก็เจ็บทุกท่า
โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นภาวการณ์สึกกร่อนของกระดูกอ่อนผิวข้อ เนื่องจากความเสื่อมของวัยและการใช้งาน หากผิวข้อมีการเสียดสีกันก็จะทำให้ปวดข้อเข่าตามมา ไม่ว่าจะอยู่ในท่าใด จะยืน เดิน ขยับก็เจ็บไปหมด
ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นได้แก่ ยิ่งอายุมากขึ้นเข่าก็ยิ่งเสื่อมได้มากขึ้น มักพบในเพศหญิงมากกว่าผู้ชายด้วย หากคนในครอบครัวมีอาการข้อเข่าเสื่อม ลูกหลานก็มีสิทธิเป็นโรคนี้ได้มากกว่าปกติ แต่แม้จะยังไม่แก่และในครอบครัวไม่มีใครเป็นโรค น้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐานก็ทำให้หัวเข่าต้องรับน้ำหนักและแรงกดทับมากทำให้เสื่อมเร็วได้เช่นกัน รวมไปถึงอุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น เอ็นหรือหมอนรองกระดูกเข่าฉีกขาด หรือมีกระดูกผิวข้อแตก เป็นต้น
อาการของโรคข้อเข่าเสื่อมที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ จะมีอาการปวดเข่ามากขึ้นในระหว่างการใช้งาน และจะทุเลาลงในช่วงพักการใช้ขา มีอาการข้อยึดติดซึ่งหากเป็นมากก็อาจทำให้การยืดเหยียดข้อเข่าทำได้ลำบาก ข้อบวมซึ่งอาจเกิดจากเยื่อบุข้ออักเสบหรือมีการสร้างน้ำไขข้อมากขึ้น เวลาเดินหรือเคลื่อนไหวกมักได้ยินเสียงกระดูกเสียดสีกัน หากปล่อยให้เป็นรุนแรงมากขึ้น ก็จะทำให้ข้อผิดรูปหรือขาโก่งได้ และหากมีอาการข้อหลวมด้วยก็จะทำให้รู้สึกไม่ค่อยมั่นคงเวลาเดินหรือยืน กล้ามเนื้อข้อจะมีขนาดเล็กลงและเสื่อมแรงลง
ซึ่งโรคข้อเข่าเสื่อมในปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จะมีก็แต่การรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวดและทำให้ข้อกลับคืนสภาพที่พอใช้งานได้เท่านั้น รวมทั้งป้องกันหรือแก้ไขการผิดรูปของข้อ โดยแล้วแต่การพิจารณาของแพทย์ตามความเหมาะสมของคนไข้แต่ละคนไป ซึ่งการรักษาจะมีทั้งแบบผ่าตัดและไม่ต้องผ่าตัด
การรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดนั้น ก็ได้แก่
1. ปรับวิธีชีวิตประจำวัน หลีกเลี่ยงการทำงานของข้อให้น้อยลง ไม่นั่งคุกเข่า พับเพียบ ยอง ๆ หรือนั่งขัดสมาธิ รวมไปถึงไม่ควรขึ้นลงบันไดด้วยแต่หากจำเป็นก็ขอให้เดินอย่างช้า ๆ ทีละขั้น ไม่ควรยืนหรือนั่งในท่าใดนาน ๆ บ่อยๆ และเข้าห้องน้ำที่เป็นโถนั่งราบ และควรมีราวจับสำหรับพยุงตัวด้วย
2. หากมีน้ำหนักเกินความลดน้ำหนักให้ได้มาตรฐาน จะลดแรงกดทับบนเข่าได้
3. ควรเลือกใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น ไม้ค้ำยัน ไม้เท้า จะบรรเทาอาการปวดข้อ ลดแรงกระทำกับข้อได้
4. นอนที่นอนที่สูงระดับเข่าเพิ่มให้ตอนลุกขึ้นจะได้ไม่ปวดเข่า
5. การประคบเข่าด้วยความอุ่นจะช่วยอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อได้มา
6. สวมสนับเข่า เพื่อกระชับข้อและลดอาการปวด และเข้าทำกายภาพบำบัดเพื่อฝึกความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อรอบข้อ เพิ่มประสิทธิภาพของร่างกาย
7. และสุดท้ายการใช้ยาเพิ่บรรเทาอาการปวดชนิดต่าง ๆ ทั้งยากินและยาทาภายนอก
8. การฉีดน้ำเลี้ยงไขข้อช่วยลดอาการปวดได้และทำให้การเคลื่อนไหวดีขึ้น
9. หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อวิธีใด ๆ ข้างต้นเลย การฉีดสตีรอยด์เข้าข้อก็เป็นทางเลือกสำหรับอาการข้อเสื่อมรุนแรง
ในส่วนของผู้ป่วยที่ล้มเหลวด้วยการรักษาแบบไม่ผ่าตัด คือยังมีอาการปวดที่รุนแรงจนทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้เลย ก็จะใช้การผ่าตัดเข้าช่วย ไม่ว่าจะเป็นการล้างข้อด้วยการส่องกล้อง, การผ่าตัดจัดแนวกระดูกขาใหม่, และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม
Leave a Reply