อาการตาบอดสามารถรักษาได้หรือไม่?
อาการตาบอดนั้น การที่จะบ่งบอกว่าจะรักษาได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับควรรุนแรงของอาการ ซึ่งอาการที่มักรักษาไม่หายมักจะเป็นตาเล็กหรือตาฝ่อแต่กำเนิด ต้อหินรุนแรง หรือตาบอดจากอุบัติเหตุร้ายแรง แต่ปัญหาสายตาบางชนิด เช่น โรคจอประสาทตาบอด ต้อกระจก หรือสายตาผิดปกติเหล่านี้ ก็อาจรักษาได้หายได้
การประเมินว่าตาข้างที่บอดนั้นจะรักษาให้หายได้กลับมามองเห็นได้อีกหรือไม่ มีวิธีทดสอบก็คือการฉายไฟให้สว่างเต็มที่ แล้วส่องเข้าหาตาข้างที่บอด เพื่อทดสอบผู้ป่วยว่าสามารถเห็นแสงไฟเปิดปิดได้บ้างหรือเปล่า หากยังพอมองเห็น แยกออกว่าไฟเปิดหรือไฟปิดได้ ก็แสดงว่ายังพอมีทางรักษาให้หายได้ ให้ปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อทดสอบและรับการรักษา
ปัจจุบันนี้ ยังไม่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนหรือปลูกถ่ายดวงตาใหม่ได้ รวมทั้งจอประสาทตาด้วย ส่วนของดวงตาที่สามารถเปลี่ยนได้มีเพียงกระจกตาดำ ซึ่งต้องรอกระจกตาบริจาคมาแล้วนำมาผ่าตัดเปลี่ยนบริเวณกระจกตา ในส่วนของผู้ที่มีเลนส์ตาขุ่นมัวที่เรียกว่าต้อกระจก สามารถผ่าตัดออกแล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมให้กลับมามองเห็นใหม่ได้อีก
การดูแลรักษาดวงตาเพื่อป้องกันอาการตาบอดนั้น ควรดูแลตามวิธีดังต่อไปนี้
– หากทำงานที่เสี่ยงอันตราย ควรสวมหน้ากากหรืออุปกรณ์ป้องกัน รัดเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถหรือนั่งรถ เพื่อป้องกันหน้ากระแทกกระจกรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
– ตรวจสุขภาพสายตา และวัดความดันตาเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปหรือมีคนในครอบครัวเป็นต้อหินมาก่อน
– ควบคุมระดับน้ำตาลสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน หรือใช้ยาป้องกันการลดต่ำของภูมิคุ้มกัน CD4+ ในผู้ป่วย HIV ฯลฯ
– ไม่ควรซื้อยาหยอดตามาใช้เอง เช่น ยากลุ่มสตีรอยด์ที่อาจทำให้ตาบอดจากต้อหินได้
– หากตาบอดหรือสายตาเลือนรางและจักษุแพทย์ไม่สามารถรักษาให้มองเห็นได้ ควรใช้เครื่องมือช่วยในการใช้สายตา
ไม่ว่าจะเป็นกล้องส่องขยาย แว่นตาช่วยอ่านหนังสือ ก็จะช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นได้ค่ะ
Leave a Reply