ฆ่าตัวตาย.. ช่วยได้ก็ควรช่วยก่อน
แม้ข่าวฆ่าตัวตายจะไม่มากเท่าข่าวฆ่ากันตาย แต่โดยสถิติจากการสำรวจแล้วปริมาณคนที่ฆ่าตัวตายกลับมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี หากเรามีคนที่ใกล้ชิดอยู่ในความทุกข์อย่างยิ่งและมีท่าทีอาจจะปลิดชีวิตตัวเอง เราควรให้ความช่วยเหลือกับเขา แต่จะช่วยอย่างไรดี? วันนี้ขอนำเอาคำแนะนำจากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีมาฝากคุณผู้อ่านกันค่ะ
– ให้ความสนใจกับคำพูดของเขา อย่าคิดไปเองว่าเขาพูดเล่นหรือเรียกร้องความสนใจ เพราะแม้ในสายตาเราจะมองว่าปัญหาของเขาไม่ได้รุนแรง แต่ต่างคนก็ต่างมีความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เท่ากัน การที่เขาจะฆ่าตัวตายหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเรามองว่าปัญหาของเขาเล็กหรือใหญ่ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเขามองปัญหาของตัวเองอย่างไร
– การฆ่าตัวตายยังไม่ได้เป็นการตัดสินใจที่แน่นอนแล้ว แต่ยังสองจิตสองใจ ลังเลอยู่มาก คนฆ่าตัวตายทุกคนอยากมีชีวิตอยู่ แต่เขาทนทุกข์ทรมานต่อไปไม่ไหว หากได้รับความช่วยเหลือหรือมีคนชี้แนะ เขาก็ยังเปลี่ยนใจได้
– แม้เขาจะไม่พูดออกมา เราก็ควรเข้าหาไปช่วยเหลือก่อน เพราะในช่วงนี้เขาจะอ่อนไหวและเจ็บปวดกับเรื่องราวรอบตัวมาก กลัวไม่มีใครช่วย กลัวการถูกปฏิเสธ กลัวไม่มีใครเข้าใจ ฯลฯ สภาวะจิตใจที่ตกต่ำมากขนาดนี้หากไม่มีคนยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ เขาก็จะจมอยู่ในความทุกข์เช่นนั้นจนอาจตัดสินใจฆ่าตัวตาย
– “การฟัง” คือสิ่งที่สำคัญที่สุด บางครั้งคุณไม่จำเป็นต้องทำอะไร แค่ทำให้เขาสบายใจขึ้นชงอะไรอุ่น ๆ ให้ดื่ม หรือน้ำเย็น ๆ ให้สบายใจก็ได้ ให้เขาพูดสิ่งที่อึดอัดออกมา ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องพูดหรือให้กำลังใจอย่างไร ความจริงแล้วการฟังก็คือการแสดงความจริง และความปรารถนาดีในรูปแบบหนึ่ง แล้วทุกอย่างมันจะเป็นไปเองโดยธรรมชาติ เมื่อเขารับรู้ถึงจิตใจที่ดีของเรา เขาจะเปิดใจเล่าให้เราฟังเอง อย่าเพิ่งไปขัดหรือแย้งเขาด้วยมุมมองของเรา ถ้าเขาคิดเหมือนเราก็คงไม่ทุกข์แบบนี้ แค่ให้เขารู้ว่าเราอยู่ข้าง ๆ ก็พอแล้ว
– แต่หากเขายังไม่ได้แสดงความพยายามฆ่าตัวตายออกมา แต่เราสงสัยในพฤติกรรมและนัยยะหลายอย่าง เช่น มักจะพูดเกริ่นว่าเราจะไม่ได้เจอกันแล้วนะ หากเขาไม่อยู่เราคงสบายใจขึ้น ฯลฯ ให้ลองอ้อม ๆ โยนหินถามทางดูว่าเขามีท่าทีอย่างไรต่อการฆ่าตัวตาย เช่นอาจถามว่า “เวลากลุ้มมาก ๆ เคยอยากคิดฆ่าตัวตายไหม?” การถามแบบนี้ไม่ได้เป็นการชี้โพรงให้กระรอกแต่อย่างใด แต่เป็นการถามความคิดเห็น เพื่อเขาจะได้เผยความในใจ ความทุกข์ของเขาออกมา แล้วเราจะได้ให้ความช่วยเหลือเขาได้ เรื่องแบบนี้อย่าปล่อยผ่านไปเฉย ๆ เขาก็จะรู้สึกดีขึ้นด้วยที่เราให้ความใส่ใจเขา
– หากประเมินดูแล้วว่า การปล่อยเขาไว้คนเดียวมีความเสี่ยงสูงมากที่จะฆ่าตัวตาย ก็อย่าปล่อยเขาไว้คนเดียวหากเรื่องราวต่าง ๆ ยังไม่น่าไว้ใจแล้ว หรือเขาบอกว่าสบายใจแล้ว ก็ควรระวังไว้อยู่ดี เก็บอาวุธและข้าวของต่าง ๆ ที่จะใช้เป็นอาวุธได้ให้พ้นสายตา ถือคติว่าทำตอนนี้ดีกว่ามาเสียใจทีหลังค่ะ
– อย่าลังเล และอย่ารีรอ แม้เรื่องราวนั้นจะเป็นความลับ แต่หากทั้งเขาและคุณเองก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้แล้ว ลองนำเรื่องราวไปปรึกษาคนอื่นที่ไม่รู้จักเขาก็ได้ เพราะเราจะได้มุมมองการแก้ปัญหาจากคนอื่นมามากขึ้น หากนำคำว่าความลับเทียบกับชีวิต ชีวิตก็ต้องสำคัญกว่าอยู่แล้ว บางคนการนำเรื่องไปปรึกษาคนอื่นอีกทีก็ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อ หรือเรื่องราวทั้งหมดก็ได้ คนที่รับปรึกษาก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร ก็เท่ากับความลับไม่เปิดเผยอยู่ดี หรือจะลองขอความช่วยเหลือจากศูนย์บริการฮอตไลน์ก็ได้การคุยกับผู้มีประสบการณ์จะช่วยให้เราได้คำแนะนำหรือแนวทางการช่วยเหลือเขาได้มากและดีกว่าเดิม
ข้อสรุปการปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีแนวโน้มในการฆ่าตัวตาย
1. ตั้งใจรับฟัง ให้เขาพูด ไม่ต้องกังวลว่าตนเองจะพูดอะไรได้หรือไม่ ฟังคือสิ่งที่ดีที่สุด
2. ท่าทีที่เห็นอกเห็นใจและนุ่มนวลนั้นดีที่สุด ที่จะทำให้เขาพูดหรือไม่พูด
3. รับฟังด้วยความเข้าอกเข้าใจ ไม่ใช่การตัดสิน
4. อย่าหาเหตุผลมาหักล้างความคิด หรือรีบให้คำแนะนำ เพราะเขาอาจไม่ยอมเล่า
5. หยั่งดูท่าทีเรื่องการฆ่าตัวตาย อย่ากลัวที่จะถาม ถามให้รู้ความถี่ของการคิด วิธี และครั้งสุดท้ายที่คิดฆ่าตัวตาย
6. อยู่ใกล้เขา ให้เขารู้ว่ามีเราอยู่เคียงข้าง
7. เก็บของมีคมและสิ่งที่อาจเป็นอาวุธเอาไปเก็บให้มิดชิด
8. หากไม่ได้อยู่กับเขา ให้หมั่นโทรเช็ค หรือกำชับว่าหากเขาไม่สบายใจให้โทรหาเราได้ทันที
9. หากไม่สามารถหาทางช่วยเขาได้ให้หาที่ปรึกษาคนอื่นมาช่วยด้วย
10. ลองปรึกษาหน่วยฮอตไลน์
11. จำไว้ว่า.. ระวังไว้ให้มากดีกว่าเสียใจภายหลัง
Leave a Reply