ปัจจัยเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน
ภาวะกระดูกพรุน มักเกิดได้มากในกลุ่มผู้ที่มีอายุเกินกว่า 65 ปีขึ้นไป และพบได้มากในเพศหญิง เกิดจากเนื้อกระดูกที่บางตัวลง เพราะการสลายตัวของกระดูกมีมากกว่าสร้าง กระดูกจึงยุบตัวหรือหักได้ง่าย มักเกิดได้กับกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก กระดูกข้อมือ แม้ผู้ที่กระดูกยังไม่หักก็มักจะพบอาการ ปวดหลัง กระดูกสันหลังยุบตัว ตัวเตี้ยลง หลั่งค่อม กระดูกส่วนอื่นเปราะหักง่าย บางทีก็ทำให้เกิดความพิการ จนเกิดภาวะแทรกซ้อนจากกระดูกหัก เช่น แผลกดทับ ติดเชื้อ ปอดบวม อวัยวะทำงานไม่ได้ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตในผู้สูงวัย ดังนั้นก่อนที่กระดูกของคุณจะมีปัญหาดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
– หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้ร่างกายมีภาวะเป็นกรด เพราะแคลเซียมที่ช่วยรักษาสมดุลระหว่างความเป็นกรดด่างของเลือดจะไปสะเทินฤทธิ์กรดดังกล่าว การสูบบุหรี่จึงเร่งแคลเซียมให้สลายออกจากกระดูกมากขึ้น
– งดดื่มเหล้า เพราะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมในทางเดินอาหาร และส่งผลต่อตับที่ช่วยกระตุ้นวิตามินดีที่มีบทบาทสำคัญในการดูดซึมแคลเซียมด้วย
– ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา ช็อกโกแลต เครื่องดื่มชูกำลังอื่น ๆ ฯลฯ ที่จะทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกมามากเกินไป
– ลดการดื่มน้ำอัดลม เพราะกรดฟอสฟอริกในน้ำอัดลมจะทำให้ร่างกายได้รับฟอสฟอรัสมากเกินไป ร่างกายจะสลายแคลเซียมออกจากกระดูกออกมาเพื่อสะเทินฟอสฟอรัสในเลือดไม่ให้สูงจนเป็นอันตราย
– หากได้รับเกลือมากเกินไปก็จะทำให้ร่างกายสลายแคลเซียมออกจากกระดูกมากเช่นกัน
– การทานยาเคลือบกระเพาะ ที่มีส่วนผสมของอลูมิเนียม ก็ทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกมามากขึ้นเช่นกัน การใช้ยานี้เป็นเวลานาน ๆ ควรปรึกษาแพทย์ด้วย
ภาวะกระดูกพรุนนี้ จะสะสมอาการตั้งแต่ยังอายุน้อย ๆ หากไม่อยากมีภาวะนี้ในตอนแก่ ควรดูแลสุขภาพตั้งแต่เด็ก ทานอาหารที่ทำให้ร่างกายได้รับแคลเซียมและวิตามินดีอย่างสม่ำเสมอ ออกไปรับแดดอ่อน ๆ เพื่อให้ร่างกายสังเคราะห์วิตามินดีบ้าง ออกกำลังกายเพื่อช่วยเพิ่มมวลกระดูก และทานอาหารให้ครบห้าหมู่และมีความหลากหลายด้วย รวมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็จะช่วยให้คุณได้แก่อย่างมีสุขภาพดีไม่ต้องเสี่ยงกับภาวะกระดูกพรุนที่อันตรายในอนาคตค่ะ
Leave a Reply