กินยาหลายอย่างระวังยาตีกัน
ในปัจจุบันนี้คนป่วยกันมากขึ้น จึงทำให้ต้องกินยามากขึ้นกว่าเดิม บางคนก็เป็นหลายโรคด้วย จึงต้องใช้ยาหลายชนิด ยิ่งคนที่เป็นโรคเรื้อรังด้วยแล้ว ยาที่ทานอยู่ประจำ ๆ นั้น ยาจากหลายโรคที่กินอาจ “ตีกัน” ได้ ซึ่งยาตีกันนี้มักให้โทษมากกว่าให้คุณ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ซึ่งจะขอยกตัวอย่างยาตีกันที่พบได้บ่อย ๆ ดังต่อไปนี้ค่ะ
– ยาอะม็อกซีซิลลินกินร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด โดยยาอะม็อกซีซิลลินจะไปมีผลต่อเชื้อจุลชีพในการเดินอาหาร รบกวนการดูดซึมยาคุมกำเนิดทำให้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง จึงมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดน้อยลง จนอาจทำให้ตั้งครรภ์ได้ ดังนั้นหากอยู่ระหว่างการใช้ยาคุมกำเนิดแต่มีความจำเป็นต้องใช้ยาอะม็อกซีซิลลิน ก็ให้คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมไปด้วย เช่น ถุงยางอนามัย ควรใช้ตั้งแต่วันแรกที่ทานยาอะม็อกซีซิลลินและใช้เรื่อยไปจนหลังจากหยุดใช้ยาไปแล้วอีก 1 อาทิตย์ด้วย
– การใช้ยากลุ่มอิริโทรไมซิน รวมกับยาลดไขมันในเลือดสแตติน เพราะยาอิริโทรไมซินจะไปยับยั้งการทำลายยากลุ่มสแตติน ทำให้ยาคงอยู่ในร่างกายนานและมีปริมาณที่มากขึ้น มีการสะสมกลุ่มยาสแตตินในเลือดเพิ่มจนกลายเป็นพิษ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ลีบ ปวด และเป็นพิษต่อไตได้ด้วยซึ่งตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้ได้แก่ ซิมวาสแตติน อะโทรวาสแตติน โลวาสแตติน เป็นต้น ควรเปลี่ยนไปใช้ยาสแตตินกลุ่มอื่นที่ไม่เกิดผลแทน เช่น พราสแตติน ฟลูวาสแตติน ฯลฯ
– การใช้ยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเอสดร่วมกับยาลดน้ำตาลในเลือด เพราะยาลดน้ำตาลในกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย หากทานร่วมกับยาแก้ปวดอักเสบข้อและกล้ามเนื้อ กลุ่มเอ็นเสด เช่น ไดโคลฟิแนก ไพร็อกวิแคม แล้ว ยาเอ็นเสดจะทำให้ยาซัลโฟนิลยูเรียในเลือดเพิ่มมากขึ้นจนผิดปกติ น้ำตาลในเลือดจึงลดลงผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยหมดสติ เป็นลม และช็อกได้
ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ควรบันทึกรายการยาทั้งหมดที่ใช้ประจำ และยาที่นาน ๆ ใช้ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ สมุนไพร ต่าง ๆ แล้วนำไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรดูว่ามีโอกาสยาตีกันหรือเปล่า เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้จ่ายยาให้คุณได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัยต่อชีวิตให้มากที่สุดนั่นเอง
Leave a Reply