แอลกอฮอล์ในเลือดกับอาการของผู้ที่ดื่ม

แอลกอฮอล์ในเลือดกับอาการของผู้ที่ดื่ม

เครื่องดื่มแอลกอฮฮล์นั้นมีระดับของแอลกอฮอล์ในปริมาณที่แตกต่างกันไป เช่น เบียร์ต่างประเทศนั้นจะมีปริมาณแอลกอฮอล์ร้อยละ 4-6 ขณะที่เบียร์ในประเทศมีประมาณร้อยละ 6-12 สุราทั่วไป จะมีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ร้อยละ 20-35 ในขณะที่รัมนั้นจะมีแอลกอฮอล์อยู่ถึงร้อยละ 50-60 เลยทีเดียว ซึ่งการตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการตรวจจากเลือดโดยตรง การตรวจจากปัสสาวะ และการตรวจผ่านทางลมหายใจ ซึ่งในประเทศไทยนั้นระดับเกณฑ์มาตรฐานของแอลกอฮอล์ที่มีในเลือดขณะเป็นผู้ขับรถต้องไม่ต้องเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ

หากจะเทียบอาการของผู้ดื่มกับปริมาณของแอลกอฮอล์ในเลือด จะเทียบได้ดังนี้
– หากมีระดับของแอลกอฮอล์ในเลือด 30 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือเท่ากับดื่มเหล้า 4 แก้ว ผสมแก้วละ 1 ฝาแม่โขง ผู้ที่ดื่มจะมีอาการสนุกสนานครื้นเครงเฮฮา

– หากมีระดับของแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือเท่ากับดื่มเหล้า 6 แก้ว ผสมแก้วละ 1 ฝาแม่โขง ผู้ที่ดื่มจะเริ่มสูญเสียการควบคุมการเคลื่อนไหวไป ไม่สามารถควบคุมได้ดีเท่าภาวะปกติ

– หากมีระดับของแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือเท่ากับดื่มเหล้า 12 แก้ว ผสมแก้วละ 2 ฝาแม่โขง ผู้ที่ดื่มเดินไม่ตรงทาง

– หากมีระดับของแอลกอฮอล์ในเลือด 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือเท่ากับดื่มเหล้า 24 แก้ว ผสมแก้วละ 2 ฝาแม่โขง ผู้ที่ดื่มจะมีอาการสับสน

– หากมีระดับของแอลกอฮอล์ในเลือด 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้ที่ดื่มจะมีอาการง่วง งง และซึม

– หากมีระดับของแอลกอฮอล์ในเลือด 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้ที่ดื่มจะสลบ และอาจถึงตายได้

การดื่มสุรานั้นทำให้เกิดโทษต่อร่างกาย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หากเป็นผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะด้วยแล้วยิ่งเป็นอันตรายได้ ลด ละ เลิก เสียวันนี้ดีกว่าต้องรอการสูญเสียในวันหน้าเถอะนะคะ