หากสงสัยว่าตนเองเป็นไข้เลือดออกจะรักษาอย่างไรดี
ในฤดูฝนต่อฤดูหนาวนั้น เป็นช่วงเวลาที่ไข้เลือดออกระบาดมาก ยิ่งโดยเฉพาะเด็กที่มีอายุ 5-14 ปีแล้วยิ่งติดเชื้อและป่วยได้ง่ายมากกว่าเด็กโตและผู้ใหญ่ ตามแหล่งน้ำขังต่าง ๆ มักเป็นที่วางไข่ของยุงลายที่เป็นพาหะนำโรค หากคนในบ้านหรือหมู่บ้านป่วยเป็นไข้เลือดออกขึ้นมา ก็มักจะเพิ่มจำนวนผู้ป่วยขึ้นไปเรื่อย ๆ ดังนั้นหากมีอาการเป็นไข้ ปวดเมื่อเนื้อตัวในช่วงเวลาที่ไข้เลือดออกระบาดแบบนี้ ควรทานยาลดไข้แก้ปวดชนิดพาราเซตามอลเท่านั้น หากใช้ยาตัวอื่นอาจทำให้ผู้ป่วยช็อกได้
ไข้เลือดออกนี้เมื่อยุงที่มีเชื้อมากัดคนจะปล่อยเชื้อเข้าสู่ร่างกายและใช้เวลาฟักตัวอยู่ราว 5-8 วัน จึงแสดงอาการ ซึ่งจะแบ่งออกเป็นสามระยะดังนี้
1. ระยะไข้สูง ประมาณ 2-7 วัน มักมีอาการปวดหัว ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามข้อและตามเนื้อตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ปากแห้ง มีจุดเลือดขึ้นตามเนื้อตัวหรือมีเลือดกำเดาไหล
2. ระยะไข้ลด ไข้ที่สูงอยู่จะลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ยังอ่อนเพลียและเบื่ออาหาร ยังควรต้องได้รับการดูแลใกล้ชิดอยู่ เพราะรายที่เป็นมากอาจถ่ายอุจจาระหรืออาเจียนเป็นเลือด ทำให้ช็อคและอาจเสียชีวิตได้ รายที่ไม่รุนแรงมากจะค่อย ๆ ทุเลาลง ทานอาหารได้
3. ระยะฟื้นตัว หลังจากไข้ลดโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนแล้ว ผู้ป่วยจะดีขึ้น อาจมีผื่นแดงตามเนื้อตัว ทำให้คันได้ แต่จะหายได้เองใน 2-3 วัน และอาการอื่น ๆ ก็จะหายไปจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
โรคนี้ไม่มียารักษาเฉพาะ แพทย์จะรักษาตามอาการเท่านั้น หากไม่รุนแรงแพทย์จะจ่ายยาแล้วกลับไปดูแลที่บ้าน ควรพักผ่อนให้มาก ทานยาที่แพทย์สั่งให้ครบ แล้วเช็ดตัวเพื่อลดไข้จะทำให้สบายตัวขึ้น ควรดื่มน้ำให้มาก ป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ ดื่มได้ทั้งน้ำเปล่า น้ำผลไม้ หรือเกลือแร่ก็ได้ หากอาการไม่ดีขึ้น ซึม อ่อนเพลียมาก กินอาหารหรือดื่มน้ำได้น้อย ปวดท้อง อาเจียนมาก ตัวเย็นผิดปกติ กระสับกระส่าย ควรรีบพากลับไปพบแพทย์อีกครั้งดีกว่า
Leave a Reply