วิธีดูแลร่างกาย เพื่อป้องกันโรคอีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใส (Chicken pox) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส (Varicella zoster virus) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิด โรคงูสวัด (Herpes Zoster) ติดต่อได้ด้วย การไอ จาม หายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัส ตลอดจนการใช้ของใช้ร่วมกับผู้เป็นโรค โดยปกติจะมีระยะฟักตัวประมาณ 2-3 สัปดาห์ มักจะระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อนเช่นเดียวกับหัด แต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี พบมากในกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 5-12 ปี รองลงมาจะเป็นกลุ่มเด็กอายุ 1-4 ปี กลุ่มวัยรุ่น และวัยหนุ่มสาวตามลำดับ
โดยทั่วไปอาการของโรคอีสุกอีใสจะไม่รุนแรง เป็นเองหายเองได้ แต่จะพบมีอาการแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย ได้ เช่นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังทำให้กลายเป็นหนองและจะมีแผลเป็นตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใบหน้า ปอดบวม สมองอักเสบ และเยื่อสมองอักเสบนอกจากนี้ในบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
เด็กที่เป็นโรคอีสุดอีใสจะมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร ส่วนผู้ใหญ่มักมีไข้สูง มีอาการปวดเมื่อยตามเนื้อตัวคล้ายไข้หวัดขณะเดียวกันก็จะมีผื่นขึ้นพร้อมๆ กับวันที่เริ่มมีไข้ แล้วกระจายไปตามใบหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง ต่อมากลายเป็นตุ่มนูนมีน้ำใสๆ อยู่ข้างใน หรือดูคล้ายตุ่มหนอง และมีอาการคัน 2-4 วัน ต่อมาก็ค่อยๆ ตกสะเก็ด บางคนมีแผลขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากและลิ้นเปื่อย และมีอาการเจ็บคอ เด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่มักจะมีอาการรุนแรงและมีตุ่มขึ้นมากกว่าเด็กเล็ก โดยทั่วไปผื่นและตุ่มจะหายโดยไม่มีแผลเป็น ยกเว้นมีเชื้อแบคทีเรียมาแทรกซ้อน โรคนี้เมื่อหายแล้ว มักจะมีเชื้อหลบอยู่ตามปมประสาท ซึ่งอาจออกมาเป็นโรคงูสวัดภายหลังได้
อาการแทรกซ้อนที่พบบ่อย คือ การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนบนผิวหนัง ทำให้กลายเป็นหนองและมีแผลเป็นตามมา ในบางรายอาจจะกระจายเข้าไปในกระแสเลือดทำให้เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ และปอดบวมได้ ในผู้ใหญ่หรือผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ใช้ยารักษามะเร็งหรือสเตอรอยด์ เชื้อไวรัสโรคอีสุกอีใสอาจจะกระจายรุกลามไปยังอวัยวะภายใน เช่น ปอด สมอง ตับ เป็นต้น
วิธีการรักษาโรคอีสุกอีใส
เนื่องจาก โรคอีสุกอีใส เป็นโรคที่หายเองได้ โดยมีไข้อยู่เพียงไม่กี่วัน ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดและค่อยๆ หายใน 1-3 สัปดาห์ ผู้ป่วยจึงควรพักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ ถ้ามีไข้สูงใช้ยาพาราเซตามอล เพื่อลดไข้ ห้ามใช้ยาแอสไพริน เพราะอาจทำให้เกิดอาการ กลุ่ม “ไรน์” (Reye’s syndrome) ได้ ทำให้ผู้ป่วยเด็กถึงแก่ชีวิตได้ ควรอาบน้ำและใช้สบู่ฆ่าเชื้อฟอกผิวหนังให้สะอาด กรณีที่มีสิ่งสกปรกปนเปื้อน เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียมาแทรกซ้อน ควรตัดเล็บให้สั้นและหลักเลี่ยง การแกะ หรือเกาตุ่ม ในรายที่มีอาการคันมาก อาจให้รับประทานยาช่วยลดอาการคันหรือใช้ผ้า gauze ชุบน้ำเกลือล้างแผลปิดบาดแผล แต่โรคอีสุกอีใสนี้เกิดจากไวรัสตัวเดียวกับโรค งูสวัด ซึ่งโรคนี้เมื่อเป็นแล้วอาจมีโอกาสเป็น งูสวัด ได้ในภายหลัง
ในปัจจุบันมียาที่ใช้ยับยั้งการเจริญของเชื้อไวรัสโรคอีสุกอีใส แต่ต้องใช้ขนาดสูงและแพงมาก นอกจากนี้จะต้องเริ่มใช้ภายในวันแรกที่มีอาการมิฉะนั้นอาจไม่ได้ผลหรือได้ผลไม่ดี
Leave a Reply