ชาวสวนชาวไร่ระวังโรคฉี่หนูในฤดูฝน

ชาวสวนชาวไร่ระวังโรคฉี่หนูในฤดูฝน

ในหน้าฝนที่มีน้ำขังเฉอะแฉะ และในนาข้าวในไร่สวนต่าง ๆ นั้น เป็นช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงต่อเชื้อโรคฉี่หนูมาก เพราะเชื้อจะแฝงตัวอยู่ตามแหล่งน้ำขังต่าง ๆ พบได้ตั้งแต่ในช่วงฤดูฝนจนถึงต้นฤดูหนาว ผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อก็คือผู้ที่เหยียบย่ำหรือทำงานอยู่ในแหล่งน้ำขัง รวมทั้งชาวสวน ชาวไร่ ชาวนา คนเลี้ยงสัตว์ คนขุดลอกคลองบึง หรือเด็ก ๆ ที่ชอบกระโดดน้ำเล่นตามแหล่งน้ำธรรมชาติด้วย

เชื้อฉี่หนู หรือเชื้อเลปโตสไปโรซิสนั้นจะอาศัยอยู่บริเวณท่อไตของสัตว์กัดแทก จำพวก หนู กระรอก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ โดยพบว่าหนูทุกชนิดเป็นตัวแพร่เชื้อที่สำคัญ ซึ่งเชื้อจะถูกขับออกมากับปัสสาวะของสัตว์และปนเปื้อนตามแหล่งน้ำ พื้นดินแฉะทั่วไป เชื้อโรคนี้สามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล หรือเยื่อบุอ่อนต่าง ๆ เช่น จมูก ตา หรือในปาก ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ การกินน้ำและกินอาหารที่ปนเปื้อนฉี่ของสัตว์เหล่านี้ก็ทำให้เกิดโรคได้เหมือนกัน

อาการของโรคฉี่หนูจะมีอาการตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรงเสียชีวิตได้ ขึ้นอยู้กับปริมาณของเชื้อและภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย โดยจะฟักตัวในร่างกายประมาณ 2-3 อาทิตย์แล้วจึงแสดงอาการ ไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะบริเวณน่อง มีรอยเขียวช้ำบริเวณผิวหนัง เยื่อบุตาอักเสบมีเลือดไหลออกในลูกตา ผู้ที่รักษาไม่ทันอาจตายเพราะภาวะไตวาย ตับวายหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ด้วย

หากคนในครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดมีอาการดังกล่าวมาหลังจากไปสัมผัสแหล่งน้ำท่วม ควรรีบพาไปพบแพทย์ ผู้ที่จำเป็นต้องเหยียบย่ำเข้าไปในแหล่งน้ำชื้นแฉะควรแต่งกันให้รัดกุม สวมรองเท้าบู้ทกันน้ำได้ ทำความสะอาดร่างกายทุกครั้งหลังจากเสร็จงาน ไม่ควรใช้น้ำตามแหล่งน้ำนั้นล้างหน้าหรือล้างแผง หากมีบาดแผลหรือแผลถลอกควรใช้พลาสติกกันน้ำปิดแผลและหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำขังหรือพื้นดินชื้นแฉะด้วย

ควรกำจัดสัตว์ฟันแทะและหนูที่อาจเป็นพาหะของโรค ดูแลรักษาความสะอาดที่พักอาศัย ดื่มน้ำสะอาดล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนกิน เลือกกินแต่อาหารที่ปรุงสุดใหม่ ๆ และล้างมือทุกครั้ง จะสามารถป้องกันโรคฉี่หนูได้ค่ะ