บางครั้งการอยู่..ก็ไม่แน่ใจว่าดีกว่าตาย

บางครั้งการอยู่..ก็ไม่แน่ใจว่าดีกว่าตาย

ที่จั่วหัวไว้เช่นนี้ เพราะจะพูดถึงการเจ็บป่วยเป็นเวลานาน ๆ ค่ะ ยิ่งหากผู้ป่วยเป็นอัมพาตขยับเขยื้อนตัวเองไม่ได้แล้ว ก็เหมือนติดคุกอยู่ในร่างกายของตนเอง ไม่สามารถไปไหนได้เอง ทรมานมากเพราะไม่ว่าสิ่งมีชีวิตชนิดไหนก็ต้องการความเป็นอิสระทั้งสิ้น ปัจจุบันนี้มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเลยที่มีชีวิตอยู่ในภาพที่ต้องนอนอยู่กับเตียงทั้งวันแบบนี้ ทั้งยังถูกควบคุมชีวิตด้วยมือผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการกินอยู่ การนอนหลับ การเคลื่อนไหว การขับถ่าย ไม่สามารถกำหนดชีวิตตัวเองได้ ไม่ว่าจะหิว อิ่ม เมื่อย คัน หนาว ร้อน หรือแม้แต่อยากตายให้พ้นก็ยังทำเองไม่ได้

ส่วนมากแล้วลูกหลานนั่นเองที่แสดงความกตัญญูด้วยการยืดชีวิตไว้ แต่หากตัวเองต้องโดนพันธนาการแบบนี้บ้าง แทบร้อยละร้อยก็บอกว่าไม่อยากอยู่อย่างทรมานเช่นนี้ อยากจากไปอย่างสงบยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี ยิ่งความทรมานและสภาพเวทนาที่ผู้อื่นต้องมาเห็นให้สงสารแล้วยิ่งหดหู่ไปกันใหญ่ เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่แล้นจะทานอาหารทางปากไม่ได้ ต้องให้ผ่านจมูกหรือเจาะท้องใส่ท่อเข้าไปในกระเพาะอาหาร ฉี่ไม่ได้ต้องสวนคาท่อปัสสาวะไว้ นอนนาน ๆ ก็อาจมีแผลกดทับตามปุ่มกระดูก บางรายหายใจเองไม่ได้ต้องเจาะคอหายใจ ผู้ป่วยเหล่านี้จึงเหมือนติดคุกที่มีร่างของตัวเองเป็นกรงคุมขัง ลูกหลานและญาติ ๆ นั้นมักยื้อไว้เช่นนี้เพราะความรักความกตัญญู และบางส่วนก็คิดว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้ ฯลฯ มีบางอย่างที่อยากฝากบอกญาติผู้ป่วยที่มีผู้ใหญ่หรือคนในครอบครัวอยู่ในสภาพเช่นนี้ว่า

– สิ่งสำคัญของการมีชีวิตอยู่ไม่ใช่การมีลมหายใจ กินข้าวได้ หรือถ่ายได้เท่านั้น แต่รวมไปถึงการมีจิตใจ มีจิตวิญญาณและสังคมด้วย
– การยืดชีวิตไว้นั้นบางครั้งก็แลกกับความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย
– ความรักความกตัญญูในช่วงแรกอาจกลายสภาพเป็นความหดหู่ ความเบื่อหน่ายท้อแท้ในเวลาต่อมาได้
– การต้องนอนแต่บนเตียง ทำอะไรเองไม่ได้เลย ก็ไม่ต่างจากการถูกจองจำ แล้วผู้ป่วยมีความผิดอะไรจึงต้องลงโทษเค้าเช่นนี้
– ผู้ป่วยจะไม่สามารถกำหนดชะตากรรมของตัวเองได้เลย ต้องยกให้ผู้อื่นตัดสินใจทั้งหมด

บางครั้งการตัดสินใจที่ดีที่สุดก็อาจต้องคำนึงถึงผู้ที่เจ็บป่วยมากที่สุดเป็นสำคัญ


Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *