การดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์

การดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์ เกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป เกิดจากการเสื่อมตัวลงเรื่อย ๆ ของประสาทสมอง ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความฉลาด ไม่ว่าจะเป็น ความจำ ความรู้สึกนึกคิด การแก้ปัญหา การตัดสินใจและการใช้เหตุผล ทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรของตนเองได้ตามปกติ มีความผิดปกติของการใช้คำพูดหรือการเข้าใจความหมายในคำพูด มีความผิดปกติในสิ่งที่เห็น และสิ่งที่รู้สึก นอกจากนี้แล้วยังมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงด้วย จากตอนแรกที่เฉยเมย มาเป็นเซื่องซึม ต่อมาก็เริ่มวุ่นวายและประสาทหลอน นอนไม่หลับ หากมีญาติพี่น้องใกล้ชิดเป็นโรคอัลไซเมอร์ ลูกหลานก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไปเล็กน้อย โรคนี้มักจะหลงลืมและมีความผิดปกติจนมีผลต่อการงานและการเข้าสังคม รวมไปถึงครอบครัวด้วย มักจะมีอาการแสดงได้แก่ มักจะหลงลืมบ่อย ๆ หรือลืมในสิ่งที่เพิ่งทำ เพิ่งพูดไป หรือใช้คำผิดที่ทำให้คนฟังไม่เข้าใจ หลงทางกลับบ้านไม่ถูก แต่งตัวไม่ถูกกาละเทศ บวกลบเลขง่าย ๆ หรือจำตัวเลขไม่ได้ รวมไปถึงมักเก็บข้าวของผิดที่เช่น เอาเตารีดไปแช่ตู้เย็น มีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่มีสาเหตุ บุคลภาพเปลี่ยนแปลงไป และเฉื่อยชาไม่สนใจที่จะทำอะไรเหมือนเดิม

การรักษาโรคนี้จำเป็นต้องอาศัยญาติพี่น้องในการดูแล นอกจากจัดให้กินยารักษาอาการหลงลืมและควบคุมพฤติกรรมที่ผิดปกติแล้ว ยังต้องคอยดูแลให้ปลอดภัย ให้ผู้ป่วยได้ออกกำลังกาย หากิจกรรมให้ทำ และให้คำแนะนำในการทำกิจวัตรต่าง ๆ เช่น กินข้าว อาบน้ำ ใส่เสื้อผ้า และคอยห้ามไม่ให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมที่อาจเสี่ยงอันตรายอย่างการขับรถหรือทำอาหารด้วย ฯลฯ ซึ่งการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์นี้อาจเป็นภาระของญาติพี่น้องที่จะต้องเสียสละและปรับชีวิตมาดูแล อาจทำให้เกิดความเครียดทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและปัญหาการเงิน เป็นไปได้ก็คือควรรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ จะชะลอความรุนแรงของโรคไปได้ ซึ่งจะช่วยรักษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและผู้ดูแลไปพร้อมกัน