เที่ยวป่าหน้าฝนระวังไข้มาลาเรีย
ในแต่ละปีนั้นองค์การอนามัยโลกคาดว่ามีผู้ป่วยไข้มาลาเรียถึงกว่าปีละ 500 ล้านคน และเสียชีวิตมากกว่าปีละล้านคน ระบาดสูงสุดในช่วงเดือน เม.ย. ถึง ก.ค. ผู้ที่ชอบไปท่องเที่ยวในป่า หรือแหล่งที่มียุงชุกชุมจึงมักติดเชื้อไข้มาลาเรียได้ง่ายในช่วงนี้
ไข้มาลาเรีย หรือไข้ป่านี้เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อโปรโตซัวที่ติดต่อกันโดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะ มักระบาดตามป่าเขา และพบการโรคมาลาเรียนี้ดื้อยามากขึ้นด้วย เมื่อยุงไปกัดคนที่มาเชื้อมาลาเรียเข้าเชื้อก็จะเข้าไปแบ่งตัวในยุง เมื่อไปกัดคนอื่นก็จะถ่ายทอดเชื้อออกไป เมื่อเข้าสู่ร่างกายคนจะเจริญเติบโตในเซลล์ตับและเม็ดเลือดแดง มีระยะฟักตัวประมาณสองอาทิตย์ แล้วจะป่วยไม่สบาย ต่อมาก็จะมีไข้หนาวสั่น ปวดหัว ปวดเมื่อย คลื่นไส้อาเจียน และอาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่ร้ายแรงได้ ไม่ว่าจะเป็นมาลาเรียขึ้นสมอง น้ำตาลในเลือดต่ำ เหลืองซีด ปัสสาวะสีดำ ไตวาย ปอดบวมน้ำและเสียชีวิตได้
เพราะการกินยาป้องกันมาเลเรียล่วงหน้านั้นไม่ได้ผล การที่จะเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในป่าหรือเดินทางศึกษาธรรมชาติจึงควรระมัดระวังตนเองไม่ให้ยุงกัด ด้วยการสวมเสื้อผ้ามิดชิด ทาโลชั่นกันยุงและนอนในมุ้งที่ฉาบน้ำยา หากกลับจากไปเที่ยวแล้วป่วยควรรีบไปพบแพทย์ด่วน และควรปฏิบัติตามแพทย์สั่งและทานยาให้ครบถ้วนด้วย ผู้ที่เพิ่งกลับจากป่าเขามาอย่าเพิ่งบริจาคโลหิตจะดีกว่าเพราะงานบริการโลหิตยังไม่มีวิธีการตรวจเชื้อมาลาเรียได้ และเชื้อมาลาเรียที่ติดมากับโลหิตบริจาคจะสามารถถ่ายทอดไปยังผู้รับโลหิตได้อีกด้วย
Leave a Reply