พิษภัยจากโรคถุงลมปอดโป่งพอง
บุหรี่เป็นพิษต่อร่างกาย ทำให้เกิดโรคจากปอดที่เรียกว่า “โรคถุงลมปอดโป่งพอง” ได้ง่าย พบมากในผู้ชายที่มีอายุระหว่าง 45-65 ปีขึ้นไป มักสูบบุหรี่กันมานานกว่า 10 ปี จนในที่สุดปอดก็พิการ ทำให้เกิดอาการเหนื่อยหอบง่าย ติดเชื้อที่ปอดซ้ำซาก นอกจากบุหรี่แล้ว ก็ยังมีสาเหตุอื่นด้วยได้แก่ มลพิษในอากาศ ควันไฟหุงต้มอาหารที่ก่อไฟในที่ขาดอาการถ่ายเท เป็นต้น
อาการของโรคถุงลมปอดโป่งพอง ก็คือ ระยะแรกจะมีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ไอหนัก ไอมีเสมหะเป็นแรมเดือนแรมปี ไอหรือขาดเสมหะในคอหลังจากตื่นนอนตอนเช้า และไอถี่ขึ้นเป็นตลอดทั้งวัน เสมหะช่วงแรงจะมีสีขาวและกลายเป็นเหลืองหรือเขียว มีไข้หรือหอบเหนื่อยเป็นครั้งคราว หากผู้ป่วยยังไม่เลิกสูบบุหรี่ ก็จะยิ่งมีอาการเหนื่อยง่ายมากขึ้น แม้เวลาเดิน พูด หรือทำกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ และหากเป็นเช่นนี้ต่อไป จะรุนแรงขึ้นจนแม้อยู่เฉย ๆ ก็เหนื่อยหอบ เพราะถุงลมปอดพิการอย่างรุนแรง ไม่สามารถแลกเปลี่ยนอากาศนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้แล้ว ในระยะสุดท้ายผู้ป่วยจะเบื่ออาหาร จนน้ำหนักลด หอบตลอดเวลา และทุกข์ทรมานมาก
การรักษาโรคถุงลมปอดโป่งพองนั้น แพทย์จะรักษาตามความรุนแรงของโรค โดยทั่วไปจะให้ยาขยายหลอดลมเพื่อสูดพ่น ต่อมาก็อาจจ่ายเป็นยาสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่นด้วย หากมีการติดเชื้อก็จะให้ยาปฏิชีวนะ สำหรับรายที่หอบรุนแรง ปอดอักเสบแพทย์ก็จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลเพราะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ต้องให้ออกซิเจน
โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง และจำเป็นต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง ในระยะแรกหากเลิกสูบบุหรี่ได้เด็ดขาดก็มัดจะได้ผลดีโรคไม่ลุกลามมาก แต่หากสูบบุหรี่ต่อไป ก็อาจลุกลามและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยผู้ป่วยมักเสียชีวิตจากการหายใจล้มเหลว ปอดทะลุ หรือปอดอักเสบ
สรุปคือโรคนี้สามารถรักษาป้องกันได้โดย
1. ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอและใช้ยาให้ครบถ้วน
2. เลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด
3. ไม่เข้าไปอยู่ในที่ที่มีฝุ่น ควัน ไอพิษทั้งหลาย
4. ดื่มน้ำให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 10-15 แก้วเพื่อช่วยขับเสมหะ
5. บางรายที่มีอาการรุนแรงจนน้ำหนักลด เบื่ออาหาร ควรทานอาหารที่ดีบำรุงร่างกาย
6. ถ้าเป็นไปได้ก็ควรมีถังออกซิเจนอยู่ในบ้านด้วยเพื่อช่วยหายใจ
7. หากเป็นไข้ หายใจหอบเหนื่อย มีอาการแทรกซ้อนควรรีบพาไปโรงพยาบาลทันที
Leave a Reply