ทำความรู้จักกับโรคหอบจากอารมณ์

ทำความรู้จักกับโรคหอบจากอารมณ์

คุณผู้อ่านเคยเห็นไหมคะที่บางมีพอมีเรื่องขัดใจหรือมีความเครียดขึ้นมาก็มักมีอาการหอบใจหอบลึก มือเท้าเกร็งจีบเหมือนเป็นตะคริว บ้างก็แน่นิ่งไม่พูดจา บ้างก็เอะอะโวยวายเหมือนคนเสียสติ ทำให้ญาติพี่น้องคนรอบข้างตกใจได้ บ้านนอกบางชุมชนก็เข้าใจว่านี่คืออาการผีเข้า ไปทำพิธีไล่ผีกันวุ่นวาย ความจริงแล้วกลุ่มอาการเช่นนี้แพทย์จะเรียกว่า กลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน หรือ โรคหอบจากอารมณ์ นั่นเองค่ะ

โรคหอบจากอารมณ์นี้เกี่ยวข้องกับปัญหาจิตใจและอารมณ์ไม่มีอันตรายใด ๆ แก้ไขและรักษาได้ พบได้ในคนทุกวัย โดยเฉลี่ยแล้วร้อยละ 6-10 ของประชากรจะเป็นโรคนี้ แต่จะพบในผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชายถึงสองเท่า พ่อแม่หรือลูกของคนที่เป็นมักจะมีแนวโน้มเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป แต่ยังไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ใจ แต่มีแนวโน้มว่ามีการหายใจด้วยการกล้ามเนื้อหน้าอกหายใจแทนการใช้กระบังลมและกล้ามเนื้อหน้าท้อง การหายใจจึงไม่มีประสิทธิภาพ มักจะมีความไวต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ความเครียด ความเจ็บปวดรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยหอบ หายใจลึก หายใจเร็ว ร่างกายขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาเกินไป เลือดกลายเป็นด่าง แคลเซียมในเลือดต่ำ เกิดความผิดปกติของร่างกายหลายระบบพร้อมๆ กัน

ผู้ป่วยที่เป็นแบบเฉียบพลันจะมีอาการหายใจลึก หายใจถี่หรือทั้งสองอย่าง มักเกิดหลังจากมีเรื่องกระทบกระเทือนทางอารมณ์ บางรายเกิดจากการเจ็บปวดรุนแรง อาจปวดหัว เวียนหัว อ่อนเพลีย ใจสั่น เจ็บหน้าอก แน่นอึดอัดในหน้าอก ชารอบปาก ชาปลายมือปลายเท้า มีลมในท้อง ท้องอืดเฟ้อ เอะอะโวยวาย สับสน ดิ้นไปมา ประสาทหลอน หรือแน่นิ่งเหมือนคนเป็นลม บางรายหลับตามิดและขมิบหนังตาแน่น มักมีอาการเกร็งมือเท้าจีบเกร็งคล้ายเป็นตะคริว เนื่องจากภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งเป็นปฎิกิริยาลูกโซ่จากการระบายลมหายใจเกินจนเกิดอาการชักเกร็งของมือและเท้าได้

ผู้ป่วยสามารถหายได้เองถ้าควบคุมการหายใจให้กลับมาเป็นปกติ แต่หากยังมีอาการต่อเนื่องอยู่ อาจนานเป็นชั่วโมงจนคนรอบข้างตกใจ ผู้ที่เป็นเรื้อรังไม่มีอาการเกร็งมือเท้าหรือหายใจผิดปกติ แต่มักจะอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่มหรือแน่นอึดอัดในอก นอนไม่หลับ ขาดสมาธิ เวียนหัว หัวโหวง ๆ ชาเสียวรอบปากหรือปลายมือปลายเท้า มีลมในท้องคลื่นไส้ หายใจยาว หาวบ่อย ย้ำคิดย้ำทำ กลัวไม่มีเหตุผล มีปมด้อย ขาดความอบอุ่นทางจิตใจและมีปัญหาในการปรับตัวได้

หากหมอวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคหอบจากอารมณ์นี้จะให้หายใจในถุงกระดาษ หรือกรวยกระดาษ 15-30 นาที ถ้าไม่ทุเลาอาจให้ยากล่อมประสาทกินหรือฉีด หลังจากอาการสงบแล้วก็จะให้คำปรึกษาในการจัดการด้านอารมณ์ ผ่อนคลายความเครียดเพื่อที่จะไม่โรคกำเริบได้อีก โรคนี้ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ และผู้ป่วยควรฝึกหายใจแบบเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟบ และฝึกผ่อนคลายความเครียดด้วยการออกกำลังกาย และฝึกสมาธิ หรือฝึกโยคะ ชี่กงร่วมด้วยก็จะหายได้สนิทค่ะ


Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *