รู้จักกับ…โรคมาลาเรีย

รู้จักกับ…โรคมาลาเรีย

ในช่วงเดือน เม.ย. ถึง ก.ค. นั้นจะเป็นช่วงที่โรคมาลาเรียมีการระบาดสูงสุด ทั่วโลกจึงร่วมกันรณรงค์แก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะในแต่ละปีจะมีผู้ติดเชื้อมาลาเรียทั่วโลกถึงประมาณสามร้อนกว่าล้านคน เสียชีวิตราว 1 ล้านคน ส่วนมากกว่าร้อยละ 90 พบในทวีปแอฟริกา ส่วนในประเทศไทยนั้นมีผู้ป่วยมากที่สุดห้าอันดับแรกอยู่ในจังหวัด ตาก กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน ระนองและสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ป่า เขา สวนยางพารา แหล่งน้ำ ภูเขาสูงชันและลำธาร โดยเฉพาะบริเวณชายแดน

โรคไข้มาลาเรีย ไข้ป่าหรือไข้จับสั่นนี้เกิดจากเชื้อโปรโตซัว โดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะ ไปกัดคนที่มีเชื้อมาลาเรียอยู่ เชื้อนี้จะเข้าไปเจริญแบ่งตัวในยุงแล้วก็ไปกัดคนต่อไป ปล่อยเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดเจริญเติบโตที่ตับและเม็ดเลือดแดง มีระยะฟักตัวประมาณ 14 วัน จึงเกิดอาการไข้สูง ปวดศีรษะ เมื่อยเนื้อตัว อาเจียน หนาวสั่น สะบัดร้อนสะบัดหนาว เหงื่อออก รู้สึกดีขึ้นแล้วก็กลับมาเป็นใหม่อีก บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง น้ำตาลในเลือดต่ำ เหลือง ซีด ปัสสาวะดำ ไตวาย ปอดบวมน้ำ ทำให้ถึงแก่ชีวิตได

ไข้มาลาเรียไม่สามารถกินยาป้องกันล่วงหน้าได้ หากเข้าป่าควรป้องกันยุงโดยสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ใช้ยาทาหรือยาจุดกันยุง หากอยู่ในพื้นที่มียุงก้นปล่อง ควรใช้มุ้งชุบสารเคมีที่ทำให้ยุงเป็นอัมพาตและตายเร็ว ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อคน สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อหรือสงสัยว่าจะติดเชื้อควรรีบน้ำส่งแพทย์ตรวจโดยเร็วเพื่อรักษาให้หายขาด และป้องกันอันตรายจากเชื้อดื้อยา เพราะในปัจจุบันมีผู้ป่วยดื้อยาแล้วถึงร้อยละ 10 ซึ่งคนกลุ่มนี้จะแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ด้วย และอาจรักษาด้วยยาเดิมไม่ได้ผลอีก