รู้จักกับโรคพาร์กินสัน
โรคพาร์กินสันนั้นเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ร่างกายมีอาการเกร็ง สั่นและเคลื่อนไหวได้ช้า มีสาเหตุมาจาก
1. ความเสื่อมสภาพของสมอง ทำให้เซลล์สมองส่วนที่สร้างสารโดพามีนซึ่งทำหน้าที่ในการสั่งการให้ร่างกาย เคลื่อนไหว มีจำนวนที่ลดลง พบมาในกลุ่มที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด
2. หลอดเลือดในสมองอุดตัน ทำให้เซลล์ที่สร้างโดพามีนน้อยลง
3. เกิดจากสารพิษมาทำลายสมอง เช่น พิษจากคาร์บอนมอนนอกไซด์ หรือแมงกานีนในโรงงานถ่ายไฟฉาย
4. สมองขาดออกซิเจนในกรณีที่จมน้ำ ถูกบีบคอ หรือการอุดตันของทางเดินหายใจจากเสมหะหรืออาหาร
5. สมองถูกกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ
6. สมองเกิดการอักเสบ
7. โรคทางพันธุกรรม เช่น โรควิลสัน
8. เกิดจากยากลุ่มต้านแคลเซียมที่ใช้ในโรคหัวใจ โรคสมอง ยาแก้เวียนศีรษะและยาแก้อาเจียน
อาการของโรคพาร์กินสันนี้จะแสดงออกมามากหรือน้อยก็แตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น อายุ ระยะเวลาการเกิดโรค และภาวะแทรกซ้อน มีอาการที่แสดงออกก็คือ
1. อาการเริ่มแรกของโรคก็คืออาการสั่น กว่าร้อยละ 60 จะสั่นโดยเฉพาะเวลาที่อยู่นิ่ง ๆ แต่ถ้าเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ อาการสั่นก็จะน้อยลง มักสั่นที่มือหรือเท้า อาจพบได้ที่คางหรือลิ้นด้วย
2. เกร็งร่างกาย ทำให้รู้สึกปวดเมื่อตามกล้ามเนื้อแขน ขา และลำตัว ทั้งที่ไม่ได้ทำงานหนักหรือเคลื่อนไหวร่างกายมากนัก
3. เคลื่อนไหวได้ช้า ขาดความกระฉับกระเฉง รู้สึกงุ่มง่าม บางรายอาจหกล้มจนเกิดอุบัติเหตุได้
4. การเดินผิดปกติ โดยจะก้าวสั้น ๆ แบบซอยเท้าในช่วงแรกและก้าวยาวขึ้นจนเร็วมากและหยุดไม่ได้ทันที จึงมีโอกาสล้มหน้าคว่ำสูง นอกจากนี้ยังอาจเดินหลังค่อม ตัวงอ แขนไม่แว่ง เดินเหมือนหุ่นยนต์
5. ใบหน้าของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะเฉยเมย ไร้อารมณ์ เวลาพูดจะขยับมุมปากเพียงเล็กน้อย
6. เสียงพูดจะเบา เครือ ๆ ไม่ชัด หากพูดนาน ๆ เสียงก็จะหายไปในลำคอ บางรายที่อาการไม่หนัก น้ำเสียงจะราบเรียบ รัว และระดับเสียงอยู่ระดับเดียวกันตลอด มีน้ำลายสออยู่บริเวณมุมปาก
7. การเขียนหนังสือจะลำบาก ตัวหนังสือจะค่อย ๆ เล็กลงจนอ่านไม่ออก
8. ปัญหาทางสายตา ผู้ป่วยจะไม่สามารถกลอกตาไปมาได้อย่างคล่องแคล่ง เพราะลูกตาจะเคลื่อนไหวแบบกระตุก
9. มักมีอาการแทรกซ้อนก็คือ ท้องผูกประจำ ซึมเศร้าท้อแท้ ปวดกล้ามเนื้อและอ่อนเพลีย
การรักษาโรคพาร์กินสันนั้นจะมีอยู่สามวิธีได้แก่
1. รักษาด้วยยา โดยให้โดพามีนคืนแก่สมองในปริมาณที่พอเพียงกับความต้องการของร่างกาย
2. ทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นคืนสภาพผู้ป่วยเข้าสู่ชีวิตที่ปกติ โดยการ ฝึกเดิน หมั่นจัดท่าทางในอิริยาบถต่าง ๆ วิธีการเลือกรองเท้าให้เหมาะสม เวลานอนก็ไม่ควรเลือกเตียงสูงเกินไป ฝึกการพูด ฯลฯ
3. การผ่าตัด จะได้ผลดีในผู้ที่มีอายุน้อยและในผู้ที่มีอาการแทรกซ้อนทางยาที่ใช้มาเป็นเวลานาน ๆ
การรักษาผู้ป่วยพาร์กินสันนั้นควรได้รับการดูแลเอาใจใส่จากคนรอบข้างในการพัฒนาฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ หากท่านมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
Leave a Reply