วิธีสังเกตอาการของเด็กสมาธิสั้น

วิธีสังเกตอาการของเด็กสมาธิสั้น

โรคสมาธิสั้นในเด็กนั้นวิธีการวินิจฉัยจะต้องอาศัยการสังเกตพฤติกรรมที่มีลักษณะเฉพาะตัว ได้แก่

เด็กขาดสมาธิ Inattention มีลักษณะที่แสดงออกคือ.. เด็กจะสนใจของเล่นหรืองานตรงหน้าแค่เพียงไม่กี่นาทีแล้วก็จะเบื่อหน่าย, ขาดความพยายามในการทำงานที่ต้องใช้ทักษะหรือมีปัญหาในการเรียนรู้สิ่งใหม่, ไม่สามารถทำงานอะไรให้สำเร็จได้, ไม่มีสมาธิเวลาเรียน เวลาเล่น หรือเวลาทำอะไรก็ตาม, เวลาฟังจะไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้หมด หรือความตั้งใจมีสั้นมาก, ขี้ลืมบ่อย ๆ และวอกแว่กบ่อย ๆ

เด็กจะมีอาการ Hyperactivity ไม่อยู่นิ่งเคลื่อนไหวตลอดเวลา, เล่นไปรอบ ๆ ห้อง แม้แต่เวลาจับให้นั่งบนเก้าอี้ก็ต้องโยกไปมา เคาะโต๊ะ ส่งเสียงดัง เตะของโน่นนี่ มักรอคอยอะไรไม่เป็น และชอบขัดจังหวะเวลาที่ผู้อื่นกำลังพูดกันอยู่ บางคนอาจชอบทำอะไรหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน

เด็กจะมีอาการหุนหันพลันแล่นหรือ Impulsivity มักตอบสนองต่อสิ่งเร้าโดยไม่คิด พูดไม่คิด หรือข้ามถนนโดยไม่ดูรถ ไม่สามารถรอคอยสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ อาจแย่งของเล่นจากเพื่อนหรือไม่พอใจเพื่อนก็อาจทำลายของเล่นนั้นไปเลย

แพทย์จะประเมินโรคว่าเป็นสมาธิสั้นหรือไม่ก็ด้วยการสังเกตพฤติกรรมข้างต้นว่าเป็นมากเกินไปหรือเปล่า มีระยะเวลานานขนาดไหน แล้วอาการเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือไม่เมื่อเทียบกับเด็กที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน รวมไปถึงสังเกตด้วยว่ามีพฤติกรรมที่ตอบสนองเพียงบางครั้งหรือทุกครั้ง หรือพฤติกรรมนั้นเกิดซ้ำ ๆ กันต่างกาละเทศะด้วยหรือเปล่า

การสังเกตลูก ๆ ของพ่อแม่ก็เป็นการช่วยอีกทางหนึ่ง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือและให้การบำบัดเด็กได้อย่างทันท่วงที ซึ่งการดูแลรักษาลูกนั้นก็ควรร่วมมือและขอคำแนะนำจากแพทย์ที่ดูแลเด็กโดยตรงค่ะ