สาเหตุและชนิดของโรคต้อหิน

สาเหตุและชนิดของโรคต้อหิน

ต้อหิน เป็นสาเหตุใหญ่ของการตาบอดของคนในโลกนี้รวมทั้งประเทศไทยด้วย มักพบได้บ่อยในผู้ทีมีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเป็นต้อหินในครอบคัว สายตาสั้นหรือสายตายาวมากผิดปกติ เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีประวัติใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน หรือเคยประสบอุบัติเหตุทางตามาก่อน กลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงในการเป็นต้อหินสูงขึ้น

อาการของโรคต้อหิน จะเริ่มจากการสูญเสียการมองเห็นของลานสายตารอบนอกก่อน เมื่อโรครุนแรงขึ้น ลานสายตาจะแคบลงเรื่อย ๆ จนตาบอดในที่สุดหากไม่ได้รับการรักษา ซึ่งสาเหตุของการเกิดต้อหิน แบ่งออกได้ดังนี้
1. ต้อหินแบบมุมเปิด พบได้มากโดยเฉพาะคนที่อายุมากกว่า 40 ปี มักไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า เกิดการสูญเสียการมองเห็นจากรอบนอกลานสายตาและค่อย ๆ ลามเข้ามาตรงกลางจนมืดในที่สุด

2. ต้อหินแต่กำเนิด พบได้ตั้งแต่เด็กทารกแรกเกิดจนถึงอาย 3 ขวบ เกิดจากระบบระบายน้ำในลูกตาไม่สมบูรณ์ตั้งแต่ในครรภ์

3. ต้อหินแบบมุมปิดเฉียบพลัน พบมากในคนเอเชียเกิดจากการมีการอุดตันของทางระบายน้ำทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปวดตาและหัวคิ้วอย่างรุนแรง ตาแดง การมองเห็นลดลงอย่างรวดเร็ว คลื่นไส้อาเจียนด้วย ต้อหินกลุ่มนี้ต้องรักษาอย่างทันทีเพื่อลดอาการและป้องกันอาการตาบอด ซึ่งเกิดขึ้นได้ในช่วงข้ามวัน หากไม่ได้รับการลดความดันลูกตา

4. ต้อหินจากสาเหตุอื่น ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน อุบัติเหตุ การอุดตันของการระบายน้ำในลูกตาทำให้ความดันตาขึ้น อาจค่อยเป็นค่อยไปหรือเฉียบพลันก็ได้

การตรวจต้อหินนั้นทำได้ด้วยการตรวจสุขภาพทั่วไป วัดความดันลูกตา ตรวจลานสายตาและดูลักษณะของทางระบายน้ำในลูกตา และเส้นประสาทตา โดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในส่วนของการรักษา จะมีทั้งใช้ยาหลอดยา ยากิน แสงเลเซอร์และการผ่าตัดขึ้นอยู่กับผู้ป่วยและประเภทของต้อหิน แต่อย่างไรก็ดีการรักษาโรคต้อหินนั้นเป็นเพียงการหยุดการดำเนินโรค แต่ไม่สามารถทำให้การมองเห็นที่สูญเสียไปแล้วกลับมาเป็นปกติได้ โรคนี้นั้นในระยะแรกจะไม่มีอาการผิดปกติหรือสัญญาณเตือนเลย ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นต้อหินจึงควรรับการตรวจตาโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างสม่ำเสมอค่ะ