รู้จักกับ…โรคอัมพาตบนใบหน้า
โรคอัมพาตบนใบหน้านี้นั้น มีสาเหตุมาจากเส้นประสาทที่คู่ที่ 7 ที่เลี้ยงใบหน้า ไม่ทำงานชั่วคราว กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าจึงขยับเขยื้อนไม่ได้ครึ่งซีก เกิดเป็นอัมพาต เกิดจากการอักเสบของเส้นประสาท หรือเกิดจากอาหารที่มาหล่อเลี้ยงเส้นประสาทคู่นี้ลดลง จึงเกิดการเกร็งตัวของหลอดเลือด ทั้งอาการขาดเลือดและขาดอาหารจึงทำให้เกิดการอักเสบบวมของเส้นประสาทได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทคู่ที่ 7 นั้นยังไม่ทราบแน่นอน สันนิษฐานว่าเกิดจากปัจจัยกระตุ้นเช่น บางคนเกิดหลังจากตากลม หรือกระทบความเย็น บางคนเคยได้รับการผ่าตัดใบหน้ามาก่อน บางคนก็พักผ่อนไม่เพียงพอ เกิดความเครียด มีโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง หรือมีการอักเสบบริเวณใบหูอยู่ รวมไปถึงการติดเชื้อไวรัสจำพวก เชื้อเริม งูสวัด อีสุกอีกใส เหล่านี้ทำให้เกิดโอกาสเป็นโรคนี้ได้ง่าย
อาการของโรคนั้น มักจะเกิดอย่างเฉียบพลัน ตื่นมาก็เห็นปากเบี้ยวไปข้างหนึ่ง เวลากลืนน้ำหรือบ้วนปากจะมีน้ำไหลที่มุมปาก ยิ้มหรือยิงฟันแล้วมุมปากตก ตาปิดไม่สนิท ยักคิ้วไม่ขึ้น ลิ้นชาและรับรสไม่ได้ข้างเดียว บางรายอาจมีอาการปวดหู และหูอื้อ แต่ผู้ป่วยก็มีความรู้สึกตัวดี แขนขามีแรงปากติ ผู้ป่วยมักอาการปวดใบหน้าหรือปวดหลังหูข้างนั้นก่อนที่เป็นอัมพาตประมาณ 2-3 วัน
ในด้านของการรักษาเพื่อให้ได้ผลอย่างรวดเร็ว แพทย์จะใช้ยาสเตียรอยด์ ยาเม็ดชื่อ เพร็ดนิโซโลนในขนาดที่สูง การให้ยานี้ในช่วงเวลา 4 วันแรกเชื่อว่าจะทำให้อาการอัมพาตหายได้เร็วขึ้น แต่หากเป็นการให้ยาในระยะท้ายแล้ว 4-7 วันอาจได้ผลไม่แน่นอน ส่วนยาต้านไวรัสยังเป็นความเชื้อทางทฤษฎีเพราะถ้าใช้ยาเพียงตัวเดียวยังไม่ได้ผลชัดเจนเมื่อเทียบกับสเตียรอยด์
โรคอัมพาตใบหน้านี้จะมีอาการดีขึ้น 1-3 อาทิตย์ ถึงร้อยละ 80-85 และหายสนิทได้ภายใน 3-6 เดือน โรคนี้แม้ว่าจะไม่รักษาแต่ก็สามารถหายเองได้ตามธรรมชาติ อาจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว บางรายอาจยาวนานตั้งแต่ 2 เดือนถึง 2 ปี บางรายอาจกำเริบซ้ำได้อีก และก็มีบางรายที่มีกล้ามเนื้ออัมพาตรุนแรงไม่สามารถขยับกล้ามเนื้อได้ รวมไปถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวอย่างเช่น ความดันโลหิตสูงด้วย หรือรายที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อใบหน้าร่วมด้วย
โรคนี้นั้นพบได้ทั้งสองเพศพบ ๆ กันด้วยอัตราประมาณ 25 คนต่อประชากรแสนคน อายุที่พบได้บ่อยค่ะ 20-50 ปี โดยคนที่เป็นเบาหวานจะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนอื่นถึง 4 เท่า รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำอย่างเช่นโรคเอดส์ด้วย
Leave a Reply