ระวัง…โรคปอดบวมในช่วงที่อากาศเย็นชื้น

ระวัง…โรคปอดบวมในช่วงที่อากาศเย็นชื้น

ระยะปลายฝนต้นหนาวที่ยังมีสายฝนชุ่มฉ่ำ กับอากาศที่เริ่ม ๆ จะเย็นลงนั้น ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เด็ก คนชรา หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่ ควรรักษาและระมัดระวังสุขภาพให้มาก เพราะช่วงเวลาที่อากาศชื้นและเย็นเช่นนั้นอาจมีโอกาสเสี่ยงให้คุณติดเชื้อโรคปอดบวมและโรคในระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ได้ง่าย โดยโรคปอดบวมนี้มีความอันตรายร้ายแรงมาก และยังเป็นโรคที่คร่าชีวิตเด็กเล็กเป็นอันดับหนึ่งของโลกมากว่าห้าปี ซึ่งเกือบทั้งหมดเกิดจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ซึ่งปัจจัยความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับ
– อาการของโรคว่าเป็นแบบเฉียบพลัน หรือค่อยเป็นค่อยไป
– อายุของผู้ป่วย หากเป็นเด็กหรือคนชราและมีร่างกายอ่อนแอก็อาจเป็นอันตรายรุนแรงขึ้น
– ชนิดของเชื้อ หากพบว่าเป็นเชื้อนิวโมคอกคัสก็จะยิ่งมีความรุนแรง
– สภาวะของผู้ป่วย หากเป็นโรคเรื้อรังหรือมีความอ่อนแอก็อาจอันตรายถึงชีวิตได้

โดยอาการในเบื้องต้นของผู้ป่วยนั้นจะมีไข้สูง หอบ ไอลึก หายใจเร็วและลำบาก หากเป็นเด็กเล็กยิ่งต้องดูแลใกล้ชิด ด้วยการเปิดเสื้อสังเกตหน้าอกว่าหายใจแรงจนชายโครงบุ๋มหรือหายใจมีเสียงวี๊ดหรือยัง ถ้าพบว่ามีอาการดังกล่าวรีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน
ในด้านของการรักษาโรคปอดบวมนั้นขึ้นอยู่ชนิดของเชื้อโรค หากเกิดจากเชื้อไวรัสจะรักษาตามอาการจนกว่าร่างกายจะกำจัดเชื้อได้เอง และต้องระมัดระวังมิให้ไปติดเชื้อโรคอื่นเพราะช่วงนี้ร่างกายจะอ่อนแอ แต่หากเป็นเชื้อนิวโมคอกคัสที่อยู่ในโพรงจมูกและลำคอ ที่เป็นสาเหตุของโรคไซนัสอักเสบ หูน้ำหนวก หากเชื้อนี้เล็ดลอดเข้าสู่กระแสเลือด จะทำให้ตับวาย ไตวาย หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ เกิดการชัก เกร็ง สมองทำงานผิดปกติ ทำให้ปอดหรือหัวใจหยุดทำงานจนกระทั่งเสียชีวิตได้

หากในครอบครัวมีเด็กเล็กหรือคนที่อ่อนแอกำลังไม่สบาย ควรดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิด หากพบสิ่งผิดปกติควรพาไปพบแพทย์โดยด่วน โรคปอดบวมนั้นระยะแรกหรืออาหารไม่รุนแรงแพทย์อาจสั่งยาให้แล้วกลับมาพักผ่อนที่บ้าน และนัดไปดูอาการภายหลัง ซึ่งการดูแลตัวเองที่บ้านนั้น ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้
– ทานยาตามแพทย์สั่งให้หมด อ่านฉลากยาให้ละเอียดและครบถ้วนก่อนใช้ยา
– เมื่อมีไข้สูงให้กินยาลดไข้ตามขนาด ทุก ๆ 4-6 ชม.และเช็ดตัวเพื่อลดไข้
– ควรทานยาที่แพทย์สั่งให้เท่านั้น ไม่ควรซื้อยามากินเอง หากไอมากหรือมีอาการผิดปกติควรรับกลับไปพบแพทย์อีกครั้ง
– จิบน้ำอุ่นบ่อย ๆ เพื่อให้เสมหะอ่อนตัวขับออกได้ง่าย กินอาหารที่ย่อยง่าย รักษาความอบอุ่นของร่างกาย และนอนหลับพักผ่อนให้มาก ๆ

โดยทั่วไปแล้วอาการปอดบวมจะดีขึ้นภายใน 1 อาทิตย์แต่หากทานยาแล้วไม่ทุเลาใน 2-3 ให้รีบกลับไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการพร้อมรับการรักษาที่เหมาะสมอีกครั้ง