สังเกตตัวเอง.. ว่ามีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจหรือเปล่า
บางทีโรคหัวใจก็สามารถเกิดขึ้นในร่างกายของคนที่มีสุขภาพดีได้เหมือนกัน โรคนี้เป็นโรคที่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง ดังนั้นเราจึงควรหมั่นสังเกตตัวเองไว้ดังต่อไปนี้ค่ะ
– เหนื่อยเวลาออกกำลังกายแม้เพียงเล็กน้อย แต่กลับเหนื่อยผิดปกติ เพราะในขณะที่เรากำลังออกกำลังกายหัวใจจะทำงานหนักขึ้น คุณจึงรู้สึกได้ถึงความเหน็ดเหนื่อยมากขึ้นค่ะ
– มักจะเจ็บหน้าอก หายใจอึดอัด และแน่นบริเวณหน้าอก พบมากในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและไขมันอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ อาการจะคล้ายมีของหนักกดทับหน้าอกไว้หรือมีโดนรัดหน้าอกทำให้หายใจไม่ออก
– เป็นลมหมดสติบ่อย ๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ เกิดเพราะจังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ เพราะเซลล์ที่ทำหน้าที่ให้จังหวะไฟฟ้าในหัวใจเสื่อมสภาพ หัวใจจึงเต้นช้าลง เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ จึงทำให้เป็นลมได้ ใครเป็นลมหมดสติบ่อย ๆ ควรรีบไปพบแพทย์
– เท้าหรือขาบวม เมื่อกดดูแล้วมีรอยบุ๋มตามนิ้ว และเป็นโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน เพราะคุณอาจอยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลวไม่รู้ตัวเมื่อใดก็ได้
– หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน มักเกิดกับคนที่ปกติไม่มีอาการของโรคหัวใจมาก่อน หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วอาจถึงกับเสียชีวิตได้
– ตรวจพบความผิดปกติ เช่น เป็นเบาหวานหรือมีไขมันในเลือดสูง หรือเอ็กซเรย์พบว่าหัวใจโตกว่าปกติ ก็มีความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบได้เช่นกัน นับว่าเป็นความเสี่ยงที่สูงไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์ด้วย
ส่วนผู้ที่ยังมีหัวใจเป็นปกติอยู่นั้น เราก็ควรดูแลสุขภาพของตัวเองไว้ก่อนที่จะเกิดโรคหัวใจตามมา ได้แก่ การหมั่นสังเกตความผิดปกติของตนเองอยู่เสมอ เช็คอัตราการเต้นของหัวใจว่าปกติดีหรือไม่ มีอาการดังกล่าวข้างต้นบ้างหรือเปล่า และควรออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงความเครียด ดูแลจิตใจให้สดใสเสมอ ๆ ควบคุมอารมณื ทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ งดอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือมาก ๆ ไปซะ ทานแป้งไม่ผ่านการขัดสี รวมทั้งผักผลไม้ให้มากขึ้น งดเว้นสุรา บุหรี่ กาแฟด้วย และที่ดีก็คือควรตรวจสุขภาพประจำทุกปี เพื่อป้องกันโรคร้ายอื่น ๆ ที่อาจแฝงเร้นอยู่ในร่างกายของเราโดยที่เราไม่รู้ตัวมาก่อนก็ได้
Leave a Reply