พิษของสุราที่มีต่อตับ!!!
สุรานั้น ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์โลกเป็นเวลายาวนานกว่าสี่พันปีแล้ว มีหลากหลายชนิดและรสชาติแตกต่างกันไปตามแต่เชื้อต้นกำเนิดและผลไม้ที่นำมาหมัก ไม่ว่าจะเป็น เหล้า วิสกี้ ไวน์ เบียร์ พันช์ ฯลฯ และสุราเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เป็นพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ด้วย แม้แต่ในศาสนาพุทธเองก็ยังให้พึงละเว้นสุราไว้เพื่อมิให้ขาดสติ เพราะผลของการดื่มเหล้านั้นนอกจากอุบัติเหตุที่ส่งผลเสียแก่ผู้อื่นโดยรอบตัวแล้ว ก็ยังส่งผลให้ตัวเองได้รับอันตรายจากสุราไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตับนั่นเอง
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ ตับเป็นอวัยวะหลักที่ย่อยแอลกอฮอล์ การดื่มเหล้าเป็นประจำจะเกิดปัญหากับตับในสี่แบบก็คือ ไขมันพอกตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง จนถึงมะเร็งตับ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ดื่มจะเป็นโรคตับเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้
– ขึ้นอยู่กับปริมาณและระยะเวลาที่ดื่ม ซึ่งมีการศึกษาพบว่าเมื่อดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 30 กรัมต่อวันในเพศชาย และ 20 กรัมในเพศหญิงแล้ว จะถือว่าอยู่ในข่ายที่ได้รับความเสี่ยงในการเป็นโรคตับ
– ขึ้นอยู่กับอายุและเพศ หากดื่มในปริมาณเท่ากันแล้ว ผู้หญิงจะเสี่ยงเป็นโรคตับมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า
– ขึ้นอยู่กับเชื้อไวรัสตับอักเสบที่มีอยู่เดิม หากมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซีอยู่แล้วจะทำให้การดำเนินโรคแย่กว่าผู้ที่เป็นโรคตับจากแอลกอฮอล์อย่างเดียว
– พันธุกรรมและยาบางชนิดก็เป็นปัจจัยเสี่ยงกระตุ้นโรคด้วยเช่นกัน
อาการของโรคตับนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของโรค ผู้ที่ไขมันพอกตับ หรือตับอักเสบเล็กน้อยจะไม่มีอาการผิดปกติหรืออาการจะไม่เฉพาะเจาะจงมากนัก เช่น ปวดชายโครงขวา มีไข้ อ่อนเพลีย ฯลฯ ส่วนผู้ที่เป็นโรคตับแข็ง จะมีอาการคือ ท้องโต ตัวเหลือง ตาเหลือง อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระดำ ฯลฯ การวินิจฉัยโรคของแพทย์นั้นจะดูจากประวัติของผู้ป่วยร่วมกับการตรวจร่างกายและตรวจในห้องแลป การรักษาโรคตับจากแอลกอฮอล์คือควรเลิกดื่มซะจะทำให้พยาธิสภาพของตับดีขึ้น รวมไปถึงการให้สารอาหารที่ทำให้ภาวะโภชนาการของผู้ป่วยดีขึ้นซึ่งจะทำให้อาการของโรคดีขึ้นด้วย
แม้การดื่มเหล้าจะทำให้มีผลดีต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจอยู่บ้างเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ดื่มเลย แต่สามารถทดแทนด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก และจำกัดอาหารประเภทแป้งและไขมัน ซึ่งให้ผลที่ดีและวางใจได้มากกว่าการดื่มเหล้าแน่นอนค่ะ
Leave a Reply