การดูแลลูกไม่ให้หันหน้าเข้าหายาเสพติด

การดูแลลูกไม่ให้หันหน้าเข้าหายาเสพติด

สาเหตุสำคัญของการหันหน้าเข้าหายาเสพติดของวัยรุ่นนั้น แบ่งออกได้เป็นสองประการใหญ่ ๆ ก็คือ ประการแรก เด็กมักจะมีพฤติกรรมชอบตามเพื่อน อยากได้รับการยอมรับจากเพื่อน และความอยากรู้อยากลองด้วยการทุกคน  ซึ่งเป็นเรื่องปกติของวัยรุ่นทุกยุคสมัย  สิ่งใดที่เพื่อนทำแล้วตนเองก็อยากลองบ้าง มิเช่นนั้นอาจทำให้เพื่อนไม่ยอมรับเข้ากลุ่ม  จนทำทุกสิ่งอย่างตามกันเป็นแฟชั่นไปหมด  แม้ว่าในปัจจุบันนี้เด็ก ๆ จะทราบดีกว่ายาเสพติดเป็นเรื่องที่อันตราย  แต่กลับเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องแปลก  และก็ยังอยากที่จะลองทำตามเพื่อน ๆ ไป จนทำให้ชีวิตต้องผิดพลาดกลายเป็นเหยื่อของยาเสพติดไปอย่างน่าเสียดาย

ส่วนปัญหาอีกประการของการติดยาเสพติดในวัยรุ่นก็คือ การต่อต้านผู้ใหญ่ ซึ่งก็เป็นไปตามวัย  เมื่อเขาโตขึ้นเข้าสู่วัยรุ่น จะเป็นวัยที่เขาเริ่มอยากปฏิวัติ ไม่อยากเชื่อฟังสิ่งที่ผู้ปกครองพูดหรือสอน  จนบางครั้งอาจแสดงความก้าวร้าวออกมา  หากผู้ปกครองหรือครูไม่เข้าใจแล้วตอบโต้คืนด้วยปฏิกิริยาที่รุนแรงกับเด็ก  หรือเข้าไปจัดการกับชีวิตของเขา  เด็กก็จะยิ่งต่อต้านมากขึ้น ทีนี้ล่ะ ทุกอย่างที่เราบอกว่าไม่ดี เขาจะทำตรงข้ามหมด สิ่งไหนที่ห้ามเขาก็จะทำ  เหมือนเด็กประชดไปเลย  แต่ด้วยความที่เขายังอ่อนประสบการณ์จึงยังไม่รู้ว่าการประชดด้วยการหันหน้าเข้าหายาเสพติดนั้น เป็นสิ่งที่อันตรายมากกว่าที่คิดไว้มากขนาดไหน

แล้วเราควรทำอย่างไรบ้างเพื่อมิให้เด็กหันหน้าเข้าหายาเสพติด  สิ่งที่สำคัญที่สุดของครอบครัวก็คือต้องหันหน้ามาคุยกัน ให้ความรักความเอาใจใส่ ความผูกพัน  ทำให้เด็กได้เข้าใจถึงอันตรายของยาเสพติด และปัญหาที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น  ทำให้เขาอยู่กับเราด้วยความรักความเอาใจใส่ของครอบครัว  จะช่วยให้เขาไม่อยากหันหน้าเข้าไปทดลองยาเสพติดเลย

อีกเรื่องก็คือ ต้องรู้จักศิลปะของการพูดคุยกับเด็กวัยรุ่น  เด็กวัยรุ่นทุกยุคสมัยไม่ชอบให้ผู้ใหญ่เข้าไปวอแวกับชีวิตของเขาทุกคน  ดังนั้นการไถ่ถามจึงต้องตะล่อม ๆ เรื่องทั่วไปก่อน แล้วให้เขาได้ปรึกษาหารือเราบ้าง พ่อแม่ควรหาเวลารับฟังสิ่งที่ลูกพูดบ้าง  ความรู้สึกต่อต้านของเขาก็จะลดลง จนเมื่อเขาไว้วางใจมากขึ้น เขาก็จะคุยกับเราอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาคิดอย่างไร เขารู้สึกอะไรเรื่องไหนบ้าง  ซึ่งผู้ปกครองควรลองไถ่ถามเขาดูว่าเขาได้เข้าไปใกล้ชิดกับยาเสพติดบางหรือเปล่า แล้วป้องกันตัวเองได้อย่างไรบ้าง  การตะล่อมถามแบบนี้จะทำให้เรารู้ความคิดของเขา รู้ว่าเขาปกป้องตัวเองอย่างไร  หน้าที่ของเราก็มีหน้าที่สนับสนุนเขาให้ทำสิ่งที่ดี ชื่นชมเขาเมื่อประสบความสำเร็จ รวมทั้งเสนอข้อมูลใหม่ที่เรารู้มาให้เขาทราบ เขาจะได้ระมัดระวังตัวมากขึ้น ซึ่งเท่านี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว

และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือต้องสังเกตพฤติกรรมของเขาว่าเริ่มมีปัญหาแล้วหรือยัง แล้วรีบเข้าแก้ปัญหาเสียก่อนดีกว่าปล่อยให้เขาไปเสพติดยานานจนแก้ไขได้ยาก  การสังเกตพฤติกรรมนั้นให้ลองมองดูว่าเขามีอารมณ์ที่หงุดหงิดหรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้นหรือเปล่า  ในขณะที่บางคนก็จะเก็บตัวหรือมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น มักชอบทำอะไรหลบ ๆ ซ่อน ๆ  ลองจับสังเกตดูว่าลูกเริ่มโกหกหรือยัง รวมทั้งเรื่องการเรียนด้วยว่ามีผลการเรียนเป็นอย่างไร  มีปัญหาในชั้นเรียนหรือไม่  อีกทั้งเพื่อนที่เขาสนิทก็เป็นส่วนสำคัญ  หากคุณพ่อคุณแม่ยอมให้ลูก ๆ พาเพื่อนมาทำกิจกรรม มาเล่นสนุกอ่านหนังสือกันที่บ้านแล้ว ก็เท่ากับทำให้ลูกได้อยู่ในสายตาเกือบตลอดเวลาเลยทีเดียว ซึ่งนับว่าเป็นวิธีที่ดีมาก  รวมไปถึงการยอมรับความคิดเห็นที่เปิดเผยของลูกในเรื่องต่าง ๆ ด้วย  การระวังป้องกันลูก ๆ จากยาเสพติดนี้หากทำตามได้  ลูกของเราก็จะไม่สิ้นคิดไปทดลองยาเสพติดให้เสียอนาคตอย่างแน่นอนค่ะ