อาการปวดเมื่อยหลากหลายรูปแบบในผู้สูงวัย

อาการปวดเมื่อยหลากหลายรูปแบบในผู้สูงวัย

ผู้สูงวัยนั้นมักมีอาการปวดกล้ามเนื้อในรูปแบบและตำแหน่งที่แตกต่างกันไป โดยมากมักพบบริเวณ หลัง เอว คอ ขา น่อง และตามข้อต่อต่าง ๆ

โดยอาการปวดเมื่อยเหล่านี้แบ่งออกตามสาเหตุคือ..
1. ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อทั่วไป ซึ่งมักเจาะจงตำแหน่งได้ไม่ชัดเจน
2. ปวดจากเส้นเอ็น และจะปวดมากขึ้นหากมีการถูกกดทับหรือเคลื่อนไหว พบมากบริเวณ หัวไหล่ มือ ส้นเท้า และเอ็นร้อยหวาย
3. ปวดจากเส้นประสาทที่กดทับ มักจะปวดแสบร้อนไปตามเส้นประสาท หากมีอาการกดทับที่เส้นประสาทหลังจะปวดร้าวลงไปถึงน่องและปลายเท้า แต่หากเป็นเส้นประสาทที่คอถูกกดทับจะปวดร้าวลงไปที่แขนและมือ
4. ปวดเมื่อจากเส้นเลือดขอดบริเวณขา มักเป็นเวลาที่ต้องยืนนาน ๆ
5. ปวดเมื่อตามข้อต่อต่าง ๆ เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า ยิ่งลงน้ำหนักมากก็ยิ่งปวด เดินก็ปวด พับหรืองอไว้ก็ปวด และมักปวดในเวลาที่เปลี่ยนท่าหรือปวดในเวลากลางคืน และเวลาที่อากาศเปลี่ยนแปลง

ซึ่งสาเหตุของการปวดเหล่านี้ก็คือเกิดการอักเสบขึ้นบริเวณรอบ ๆ ข้อ, ยกของหนัก, อิริยาบถไม่เหมาะสม, อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไป, ยืน เดิน นั่ง แล้วศีรษะงุ้มไปด้านหน้า, เกิดจากอุบัติเหตุ หกล้มหรือกระแทก รวมไปถึงเกิดจากโรคบางโรค อย่างเกาต์ รูมาตอยด์ ขาดสารอาหาร และที่พบได้บ่อยมากในผู้สูงวัยที่มักมีอาการปวดก็คือ มักจะนั่งหลังค่อมหรือก้มหน้าอ่านหนังสือ, การแอ่นหลังมากในคนที่อ้วนลงพุง การแบกของหนักหรือยกของหนัก ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณหนังต้องออกแรงมากเกินไป

การดูแลผู้สูงวัยที่เอ็นและกล้ามเนื้อเริ่มเสื่อมสภาพ มิให้เกิดความทรมานจากอาการปวดก็คือ
1. พยายามเปลี่ยนอิริยาบถเรื่อยๆ อย่าอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไป
2. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
3. เลือกที่นอนไม่ให้แข็งหรือนุ่มเกินไป เพราะจะทำให้ปวดหลังได้ง่าย
4. หากรู้สึกปวดเมื่อยหลังขึ้นมาให้นำกระเป๋าน้ำร้อนมาประคบบริเวณที่ปวดวันละ 1-2 ครั้ง ครั้งละ 10-20 นาที ไม่เกินหนึ่งสัปดาห์อาการน่าจะดีขึ้น แต่หากยังปวดอยู่มากควรรีบพามาพบแพทย์จะดีกว่า