หน้าฝน “ป้องกันยุงเกิด.. อย่าให้ยุงกัด” ลดความเสี่ยงไข้เลือดออก.
ฤดูฝนที่กำลังมาเยือนนี้ มีโรคระบาดที่น่าเป็นห่วงมากสำหรับเด็ก ๆ ก็คือ โรคไข้เลือดออกนั่นเอง เป็นโรคที่มักระบาดในช่วงที่มีฝนตกชุกจนเกิดน้ำขังตามภาชนะและสิ่งของต่าง ๆ ที่รองน้ำเก็บไว้โดยไม่เกิดการหมุนเวียนถ่ายเท ยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคนี้จึงแพร่พันธุ์เกิดขึ้นได้มากมาย โดยเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้เลือดออกนี้ชื่อว่า “ไวรัสเดงกี่” ที่จะอยู่ในตัวยุงลายที่ไปกัดคนที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก แล้วไปกัดคนอื่น ๆ แพร่เชื้อต่อไปเรื่อย ๆ เพราะยุงตัวเมียที่พกพาไวรัสไปด้วยนี้จะมีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 4-6 อาทิตย์
เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสเดงกี่นี้ไปแล้วจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2-7 วัน ผู้ป่วยจึงมักมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน หน้าแดง ตัวแดง ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร มีผื่นหรือจุดแดงตามลำตัว แขนและขา กับทั้งมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน รวมทั้งอาจมีอาการปวดท้อง เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ถ่ายสีดำได้ รวมไปถึงอาจเกิดอาการช็อกได้อีกโดยให้สังเกตว่าแม้ไข้จะลดแล้ว แต่ผู้ป่วยยังมีอาการซึม ตัวเย็น กระสับกระส่ายปวดท้อง อาเจียนหรือหมดสติอยู่ ทั้งหมดนี้อาจเกิดขึ้นได้หากไม่สังเกตอาการและรักษาไม่ทันการ
ดังนั้นผู้ปกครองจึงควรดูแลเด็กๆ และบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากเด็กมีไข้สูงเฉียบพลัน ควรเช็ดตัวลดไข้และให้ยาลดไข้พาราเซตามอลชนิดน้ำเชื่อมเพื่อให้ทานง่าย และใช้ตามขนาดที่กำหนดทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง เมื่อไข้ลดแล้วจึงหยุดยา (หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพรินเพราะอาจทำให้เกิดอาการช็อกรุนแรงได้) นอกจากนี้พยายามให้เด็กดื่มน้ำ น้ำผลไม้ น้ำแกงจืดหรือน้ำเต้าหู้ให้บ่อย ๆ
ซึ่งหากผ่านไปสามวันแล้วเด็กยังมีไข้อยู่หรือมีจุดแดงขึ้นบริเวณลำตัว และมีเลือดกำเดาไหลหรืออาเจียนเป็นเลือดให้นำส่งโรงพยาบาลด่วน แต่หากในระหว่างนี้เด็กมีอาการซึม เพลีย กระสับกระสับผิวหนังเย็นชื้น เหงื่อออกมากหรือไม่ทานอาหาร แสดงว่าอาการเริ่มเข้าสู่อันตรายคืออาการช็อกแล้ว ให้รีบส่งโรงพยาบาลทันที
สำหรับการป้องกันยุกกัดนั้น หากเป็นผู้ใหญ่คงสามารถดูแลตัวเองได้ แต่หากเป็นเด็กนั้น ผู้ปกครองควรจัดให้เด็กได้อยู่ในที่สว่าง มีลมพัดผ่าน นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในบ้านให้หมด ไม่ว่าจะเป็นกระถางต้นไม้ น้ำรองขาตู้ ขันน้ำ หรือกระถางไม้น้ำต่าง ๆ ฯลฯ แม้โรคไข้เลือดออกนี้จะพบได้มากในเด็ก แต่ก็สามารถเป็นได้ทุกวัย เป็นโรคที่มีความอันตรายอย่างไม่คาดคิด ซึ่งแต่ละปีนั้นทำให้คนไทยเสียชีวิตจำนวนไม่น้อย ดังนั้นการป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุดก็คือ “ป้องกันยุงเกิด.. อย่าให้ยุงกัด” นั่นเองค่ะ
Leave a Reply