โรคซิฟิลิส อาการ การรักษา วิธีป้องกัน

โรคซิฟิลิส อาการ การรักษา วิธีป้องกัน

โรคซิฟิลิส (Syphilis) เกิดขึ้นได้จากเชื้อแบคทีเรีย Treponema Pallidum เป็นอีกโรคหนึ่งที่ติดต่อทางเพสสัมพันธ์ หรือ ติดต่อจากสิ่งมีชีวิต เชื้ออาจเข้าสู่ร่างกายได้ทางเยื่อเมือก เช่น ช่องคลอด ท่อปัสสาวะ ปาก เยื่อบุตา หรือทางผิวหนังที่มีแผล เชื้อโรคจะแพร่กระจายในร่างกายไปตามกระแสเลือด ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะต้นแล้ว อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

การติดต่อของโรคซิฟิลิส
– ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยติดต่อผ่านทางเยื่อบุช่องคลอด รูทวาร ท่อปัสสาวะ
– ติดต่อจากการสัมผัสแผลที่มีเชื้อ โดยติดต่อได้ผ่านทาง ผิวหนัง เยื่อบุตา และปาก
– ติดต่อจากแม่สู่ลูก เชื้อซิฟิลิสจะถ่ายทอดสู่ทารกในครรภ์ได้ จะเรียกเด็กที่ติดเชื้อนี้ว่า ซิฟิลิสแต่กำเนิด อาการจะแสดงเมื่อเด็กคลอดออกมาได้ 3-8 สัปดาห์ ถ้าไม่ได้สังเกต จะแทบไม่เห็นเลย อาจจะมีตุ่มผื่นขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ถ้าไม่ได้ทำการรักษา เมื่อเข้าสู่ตอนโต อาการจะออกมาก ซึ่งเข้าสู่ระยะที่สี่แล้ว บางรายจะแสดงอาการพิการออกมาให้เห็นได้ชัดเจน

อาการของโรคซิฟิลิส
ส่วนมากผู้ที่ติดเชื้อซิฟิลิส มักจะพบกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยผู้ป่วยจะมีอาการหลายแบบ แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับระยะที่ติดเชื้อ ซึ่งแบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้

1. ระยะแรก Primary Syphilis
เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายได้จากทางเยื่อบุ หรือรอยถลอกตามร่างกาย เมื่อได้รับเชื้อแล้ว จะมีอาการเป็นเพียงแผลเดียว ลักษณะเป็นแผลริมแข็ง หรือ แผลที่มีขอบนูนแข็ง มีต่อมน้ำเหลืองโต กดแล้วไม่เจ็บ หลังจากที่ได้รับเชื้อ 10-90 วัน จะมีตุ่มแดงออกเป็นแผลที่อวัยวะเพศ หรือบริเวณที่เชื้อโรคเข้าไป แผลจะเป็นอยู่ 1-5 สัปดาห์ และจะหายไปเอง ถึงแม้ว่าแผลจะหายไปแล้วก็ตาม ก็ยังมีเชื้อซิฟิลิสอยู่ในกระแสเลือดอยู่ ยิ่งหากผู้ที่เป็นโรคเอดส์อยู่ได้ติดเชื้อ แผลที่เป็นจะมีขนาดใหญ่ เมื่อกดแล้วจะเจ็บมาก

2. ระยะที่ 2 Secondary Syphilis
หากผู้ป่วยไม่ได้ทำการรักษา จะเข้าสู่ระยะที่ 2 จะเกิดขึ้นหลังได้รับเชื้อ 16 วัน – 6 เดือน โดยเชื้อจะกระจายไปตามกระแสเลือด ทำให้ปวดตัว ปวดข้อกระดูก ปวดเมื่อตามข้อ เพราะข้ออักเสบ ต่อมน้ำเหลืองจะบวมโต มีผื่นสีแดงน้ำตาลขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ไม่มีอาการคัน และอาจจะมีหูด Condylomata lata ในบริเวณที่อับชื้น เช่น รักแร้ ทวารหนัก ขาหนีบ ระยะนี้จึงอาจเรียกได้ว่า ระยะเข้าข้อ หรือออกดอก อย่างไรก็ตาม อาการในขั้นนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 1-3 เดือนและจะหายไปได้เอง หากไม่ทำการรักษา เชื้อก็ยังอยู่ในกระแสเลือดอยู่ การตรวจเลือดให้ระยะนี้ เลือดจะให้ผลเป็นบวก

3. ระยะที่ 3 Latent Stage หรือ ระยะแฝง
ระยะนี้อาจจะไม่มีอาการใดๆของโรค แต่จะกินเวลาได้นาน 2-30 ปีหลังจากที่ร่างกายได้รับเชื้อ อาจจะมีผื่นขึ้นเหมือนระยะที่ 2 บ้าง ในระยะนี้จะทราบผลว่าเป็นซิฟิลิสได้โดยการเจาะเลือดตรวจ หากสตรีมีครรภ์มีเชื้อนี้อยู่ในร่างกาย ก็อาจถ่ายทอดไปยังลูกในครรภ์ได้

4. ระยะที่ 4 Late Stage (Tertiary)
ระยะนี้อาจจะกินเวลานานถึง 2-30 ปี หลังจากที่ได้รับเชื้อ โดยเชื้อซิฟิลิสนั้น จะได้เข้าไปทำลายอวัยวะต่างๆผ่านทางกระแสเลือด เช่น หัวใจและหลอดเลือด สมองทำให้อ่อนแรงหรืออาจจะตาบอด กระดูกหักง่าย ซึ่งหากไม่มีการทำการรักษาทันท่วงที จะทำให้อวัยวะต่างๆภายในร่างกาย ไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ ส่วนมากที่ติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์นั้น เมื่อคลอดออกมา อาจจะมีความผิดปกติ พิการ ถึงเสียชีวิตได้

การวินิจฉัยโรคซิฟิลิส
จะรู้ได้โดยการไปพบแพทย์ และแพทย์จะทำการตรวจโดยนำหนอง, น้ำเหลืองจากแผล หรือนำเลือดไปตรวจสอบหาภูมิต่อเชื้อ โดยการตรวจนี้สามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่ติดเชื้อระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 แล้ว

การตรวจเลือดหาเชื้อซิฟิลิส
การเจาะเลือดหาภูมิต่อซิฟิลิส ทำได้ 2 วิธี คือ
1. การเจาะเลือดเพื่อหาภูมิคุ้มกันซึ่งไม่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อซิฟิลิส ได้แก่การเจาะ VDRL หรือ RPR หากให้ผลบวกต้องเจาะเลือดอีกเพื่อยืนยันการวินิจฉัย

2. การเจาะเลือดเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโดยการเจาะ FTA-ABS หรือ MHA-TP

และการตรวจหาเชื้อจากน้ำไขสันหลัง จะสามารถตรวจการติดเชื้อในระบบประสาท และตรวจหาความสัมพันธ์ของซิฟิลิสกับโรคเอดส์ได้ สำหรับผู้ที่ติดเชื้อซิฟิลิสไม่ว่าจะเป็นที่ ช่องคลอด อวัยวะเพศชาย หรือทางทวารหนัก ผู้ป่วยจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเอดส์ด้วย 2-5 เท่า

ผู้ที่ควรตรวจหาเชื้อซิฟิลิส
– สตรีมีครรภ์
– ผู้ที่รักร่วมเพศ (เกย์)
– ผู้ที่ติดเชื้อเอดส์ HIV
– ผู้ที่มีคู่ครองที่ติดเชื้อเอดส์

การรักษาโรคซิฟิลิส
สำหรับผู้ที่ติดเชื้อแล้ว ก็ไม่ต้องกังวลไปว่าจะเป็นอันตราย หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะต้นๆ ก็จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ติดเชื้อจะต้องรับประทานยา เพนนิซิลลิน Penicillin เป็นเวลา 1-3 สัปดาห์ แต่ระยะการรักษานั้น ก็จะขึ้นอยู่กับระยะที่เป็นด้วย หากมีคู่สมรสควรไปพบแพทย์ และทำการรักษาไปคู่กัน หลังจากที่ได้รับการรักษาแล้ว เมื่อถึง 6 เดือน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจซ้ำ และตรวจหลังจากนั้นจนครบ 3 ปี  เพื่อให้แน่ใจว่าหายขาดแล้ว ทั้งนี้ระหว่างผู้ป่วยได้รับการรักษา ควรปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์ และงดการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น