โรควัณโรค อาการ การรักษา วิธีป้องกัน

โรควัณโรค อาการ การรักษา วิธีป้องกัน

วัณโรค (Tuberculosis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) หรือคนส่วนใหญ่เรียกสั้นๆว่า TB เชื้อวัณโรคนี้จะชอบอยู่ในที่ๆมีออกซิเจนมาก เช่น ในปอด เชื้อวัณโรคจะติดต่อได้ง่ายจากคน ผ่านไปทางละอองเสมหะ หรือการจาม เชื้อวัณโรคที่ตกลงสู่พื้นหรือติดอยู่กับผิวสัมผัสของวัตถุอื่นๆ จะถูกทำลายไปโดยง่ายโดยแสงสว่างและอากาศที่ถ่ายเทสะดวก วัณโรคแพร่ได้ด้วยการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น อยู่อาศัยร่วมบ้านเดียวกัน การที่ผู้ป่วยภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอ เช่น เบาหวาน ติดเชื้อเอชไอวี หรือได้รับยากดภูมิต้านทาน เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง หรือยาลูกกลอนที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ จะทำให้มีโอกาสเป็นวัณโรคได้ง่าย  เชื้อนี้จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการไอติดต่อกันเป็นเวลานานและเกิดแผลในปวดจนทำให้เสียชีวิตได้

การติดเชื้อวัณโรคระยะโรคสงบและระยะป่วยเป็นโรค
1. การติดเชื้อวัณโรคในระยะสงบ หมายถึงการที่คนคนหนึ่งมีเชื้อวัณโรคอยู่ในตัว แต่ไม่เกิดโรคและไม่มีอาการป่วยใดๆ การติดเชื้อในระยะสงบสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของผู้ที่ติดเชื้อยังสามารถควบคุมเชื้อแบคทีเรียได้อยู่ เชื้อแบคทีเรียสามารถอยู่ในร่างกายได้นานหลายปีโดยที่ไม่ทำให้เกิดโรคหรืออาการผิดปกติใดๆ

2. การติดเชื้อระยะป่วยเป็นโรค อาจมีการป่วยเป็นโรคขึ้นมาในภายหลังได้ หากภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เชื้อวัณโรคที่อาศัยอยู่ในร่างกายอาจได้รับการกระตุ้น การกระตุ้นก่อให้เกิดวัณโรคและอาการที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีและเชื้อวัณโรคร่วมกันมีแนวโน้มจะป่วยเป็นวัณโรคมากขึ้น สำหรับในบางคน ระยะป่วยเป็นโรคอาจเกิดขึ้นได้ภายหลังติดเชื้อวัณโรคเพียงไม่กี่สัปดาห์

อาการของผู้ติดเชื้อวัณโรค
– ไม่ค่อยมีแรง อ่อนเพลีย
– มีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง
– มีไข้ต่ำๆ มีอาการหนาวสั่น หรือมีอาการเหงื่อออกตอนกลางคืน
– มีอาการไอแห้งๆ หรือมีเสมหะ และจะไอมากในเวลานอน ไอมากเวลาตื่นนอนตอนเช้าและหลังอาหาร
– มีอาการไอเรื้อรัง นานกว่า 3 สัปดาห์ หรือบางทีจะมีอาการไอเป็นเลือด และมีเลือดเป็นก้อนๆออกมาด้วย
– ในเด็กมักจะมีอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ เพราะในเด็กมักจะมีภูมิคุ้มกันน้อย
– ในรายที่มีอาการยังไม่มากนัก อาจจะมีอาการแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก โดยไม่มีอาการไอ

เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์
หากพบว่ามีอาการไอติดต่อกันเป็นเวลานานเกินกว่า 2 สัปดาห์ และมีอาการไอมีเสมหะปนกับเลือด ควรรีบไปพบแพทย์

เมื่อพบแพทย์แล้ว แพทย์จะทำการชักถามประวัติ ว่าเคยมีอาการเจ็บป่วยอย่างไรบ้าง แพทย์จะทำการตรวจร่างกายเบื้องต้น และทำการตรวจเชื้อวัณโรคจากเสมหะ หรือสารคัดหลั่งต่างๆในร่างกาย และจะนำเสมหะไปเพาะหาเชื้อ ร่วมกับการ X-Ray ดูที่ปอด และทำการวินิจฉัยอาการของวัณโรค เพื่อดำเนินการรักษาอย่างต่อไป

การรักษาวัณโรค
โรควัณโรคนั้น สามารถรักษาให้หายขาดได้ ยาที่แพทย์ใช้ในการรักษานั้นจะมีมากหลายชนิด  แต่ผู้ติดเชื้อจะต้องมีวินัยในการทานยาอย่างมาก เพราะต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน สาเหตุสำคัญที่ต้องทานยาหลายชนิดร่วมกันนั้น ก็เพื่อป้องกันการดื้อยา ซึ่งจะทำให้การรักษาวัณโรคนั้นเกิดความล้มเหลวได้

ยาที่ใช้ในการักษาวัณโรคจะแบ่งแบบแผนการรักษาออกเป็น 2 ระยะ

1. ระยะเข้มข้น ในช่วงเวลา 2 เดือนแรกการรักษาช่วงนี้จะประกอบไปด้วยตัวยาหลีก 4 ชนิด ซึ่งตัวยาอาจจะอยู่ในรูปแบบของยาแยกเม็ดหรือรวมอยู่ในเม็ดเดียวกันที่เรียกว่ายารวมเม็ด ระยะเข้มข้นนี้ถือว่ามีความสำคัญมากเพราะจะช่วยลดปริมาณของเชื้อในปอดได้มากที่สุดและช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อด้วย

2. ระยะต่อเนื่อง ในช่วงเวลา 4 เดือนต่อมา การรักษาใช้ยาหลัก 2 ชนิด เพื่อกำจัดเชื้อวัณโรคที่เหลืออยู่ ซึ่งตัวยาอาจจะอยู่ในรูปแบบของยาแยกเม็ดหรือเป็นยารวมเม็ดก็ได้เช่นกัน

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นวัณโรคในระยะเริ่มแรกนั้น ควรหลีกเลี่ยงการคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและคนชรา เพราะในเด็กและคนชรามักจะไม่ค่อยมีภูมิต้านทาน จะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ควรแยกสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันออกจากคนอื่น และควรหลีกเลี่ยงสถานที่สาธารณะที่มีผู้คนแออัด อย่างเช่น โรงภาพยนต์ ห้างสรรพสินค้า รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยพาหนะร่วมกับผู้อื่นเป็นเวลานาน หลังจากทำการรักษา และได้รับยาครบตามสูตรอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็จะสามารถหายจากวัณโรค และใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นตามเดิมได้

วิธีป้องกันตัวไม่ให้เป็นวัณโรค
– ฉีดวัคซีนบีซีจีตั้งแต่แรกเกิด
– ดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรง
– ควรอยู่ในที่ๆมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ควรปิดหน้าต่างหรืออยู่ในที่อับมากๆ และไม่ควรอยู่ในห้องที่เปิดแอร์เป็นเวลานาน เพราะอากาศไม่มีการถ่ายเท และจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรคได้ง่าย
– เมื่อออกไปในสถานที่ๆแออัด หรือมีอาการไอร่วมด้วย ควรสวมหน้ากากปิดปาก เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกาย และไม่ให้เชื้อของเราแพร่กระจายสู่ผู้อื่น
– ไม่ควรใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ
– ไม่คลุกคลีกับผู่ป่วยวัณโรคที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อ
– เมื่อรู้ว่ามีอาการดังที่กล่าวไว้ในข้างต้น ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเร็วที่สุด

 การดูแลตนเอง
1. มีวินัยในการรับประทานยาอย่างเคร่งครัด ทานยาให้ครบทุกมื้อ และห้ามหยุดยาไปเองโดยอันขาด เพราะจะทำให้เชื้อวัณโรคดื้อยาได้
2. พบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ถึงแม้จะมีอาการดีขึ้น ก็ต้องไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์ติดตามการรักษา และดูอาการข้างเคียงการใช้ยาที่อาจจะเกิดขึ้น
3. ไม่สูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
4. ออกกำลังกาย  และรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

สาเหตุของการรักษาวัณโรคไม่ได้ผล
สาเหตุที่สำคัญได้แก่ การที่ผู้ป่วยได้รับยาไม่ถูกต้อง ผู้ป่วยรับยาไม่สม่ำเสมอไม่ครบตามตามกำหนดเวลาอันสมควร บางคนอาจมีการแพ้ยาเกิดขึ้น นอกจากนี้อาจเกิดจากมีโรคอื่นร่วมอยู่ด้วยและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เช่นเบาหวาน พิษสุราเรื้อรัง สำหรับการรักษาผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษามาก่อน ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามาเต็มที่เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และการประเมินผลแสดงการรักษาไม่ได้ผล ควรเปลี่ยนใช้ยาขนานใหม่ที่ผู้ป่วยไม่เคยได้รับมาก่อนอย่างน้อย 2 หรือ 3 ขนาน โดยอาศัยผลการทดสอบการต้านยาของเชื้อวัณโรค หรือการเปลี่ยนแปลงทางคลินิกผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษาจนครบกระบวนการแล้วโรคสงบไประยะหนึ่งแล้วกำเริบขึ้นใหม่

การรักษาควรพิจารณาถึงสถานที่นั้นสามารถทดสอบความไวต่อยาของเชื้อวัณโรคได้หรือไม่ ถ้าสามารถทำการทดสอบได้อาจให้ยาเก่าที่ผู้ป่วยเคยได้รับมาก่อนและรอผลทดสอบการต้านยาของเชื้อวัณโรค ถ้าไม่สามารถทำการทดสอบได้ควรใช้ยาใหม่ที่ผู้ป่วยไม่เคยได้รับมาก่อน 2-3 ขนาน อย่างไรก็ตามการรักษาผู้ป่วยที่เคยได้รับการรักษามาก่อนมีความยุ่งยากและปัญหามาก เนื่องจากต้องใช้ยาที่มีประสิทธิภาพต่ำและผลแทรกซ้อนสูง