โรคอีสุกอีใส อาการ การรักษา วิธีป้องกัน
อีสุกอีใส หรือ ไข้สุกใส เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากไวรัสชนิดหนึ่ง พบระบาดในช่วงหน้าแร้ง มกราคม-เมษายน แต่ในหน้าอื่นๆ ก็ยังพบได้ประปรายตลอดปี เชื้อไวรัสอีสุกอีใสนี้ เป็นเชื้อไวรัสเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด สำหรับคนที่ไม่เคยติดเชื้ออีสุกอีใสมาก่อน เมื่อติดเชื้อนี้ครั้งแรกก็จะกลายเป็นอีสุกอีใส แต่ส่วนใหญ่จะพบในเด็ก อายุ 4-9 ขวบ ส่วนผู้ใหญ่ก็สามารถพบได้เป็นประปราย เมื่อเคยเป็นอีสุกอีใสแล้วครั้งหนึ่ง ร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันโรค และจะไม่เป็นซ้ำได้อีก นอกจากคนนั้นจะเป็นคนที่ภูมิคุ้มกันต่ำ อย่างเช่น คนที่ติดเชื้อเอชไอวี อาจเป็นซ้ำได้มากกว่า 1 ครั้งได้
หลังจากที่หายอีสุกอีใสแล้ว เชื้อไวรัสนี้อาจจะยังแฝงตัวอยู่ในร่างกาย เมื่อร่างกายมีภูมิต้านทานอ่อนแอ เชื้ออาจจะแบ่งตัวกลายเป็น “งูสวัด” ได้ อีสุกอีใสกับงูสวัดนั้น จึงเป็นโรคที่ติดต่อข้ามกันไปข้ามกันมาได้
อาการของอีสุกอีใส
ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสนี้จะมีอาการเป็นไข้ ตัวร้อน ไปพร้อมๆกับมีตุ่มขึ้นตามร่างกายในวันเดียวกับที่มีไข้ อาการเริ่มแรกจะมีเป็นผื่นแดงราบก่อน ต่อมาถึงจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสๆ และมีอาการคัน และต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำข้นขาว แล้วตกสะเก็ด
ตุ่มนี้จะขึ้นไปทั่วร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น ตามไรผม ใบหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง อาจจะมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากเปื่อยลิ้นเปื่อยได้ ตุ่มอีสุกอีใจสจะขึ้นเต็มที่ประมาณ 4 วัน และหลังจากนั้นจะไม่ขึ้นตุ่มอีก และตุ่มที่ขึ้นอยู่จะตกสะเก็ดและหลุดออกไปเองภายใน 1-3 อาทิตย์
การดูแลรักษาตนเอง
– ไม่แกะ หรือ เกา ตุ่มตามร่างกาย เพื่อป้องกันไม่ให้ตุ่มกลายเป็นหนอง
– ควรอาบน้ำ ล้างมือ ด้วยสบู่ยา วันละ2-3 ครั้ง เพื่อไม่ให้ติดเชื้อหนอง
– ถ้ามีอาการปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย มีตุ่มในช่องปาก ให้กลั้วปากด้วยน้ำเกลือ วันละ 2-3 ครั้ง และให้รับประทานอาหารอ่อนๆ
– ทานอาหารได้ตามปกติ แต่ไม่ควรรับประทานอาหารแสลง ควรบำรุงด้วยอาหารจำพวกโปรตีน
– ถ้าหากมีไข้สูงให้กินยาลดไข้ พาราเซตามอล ถ้าในเด็กให้กินยาน้ำลดไข้ และคอยเช็ดตัวทุก 1-2 ชม.
– ห้ามกินยาชนิดแอสไพรินลดไข้โดยเด็ดขาด ยิ่งในเด็กเล็ก เพราะอาจจะทำให้เกิดโรคสมองอักเสบ ร่วมกับตับอักเสบ ซึ่งจะเป็นอันตรายได้
– หลีกเลี่ยงการใช้ยาสตีรอยด์ เพราะอาจทำให้โรคลุกลามได้
อาการอย่างไรที่ควรไปพบแพทย์
– ควรไปพบแพทย์ทันที เมื่อมีอาการหายใจหอบ ปวดหัวรุนแรง ซึม หรือชัก
– ตุ่มอักเสบเป็นหนองอย่างมาก
– มีอาการคันมากจนนอนไม่หลับ
– ไข้ขึ้นสูง ยิ่งในเด็กต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
แพทย์จะรักษาตามอาการของแต่ละบุคคล แต่ถ้ามีตุ่มที่เป็นหนองอักเสบ แพทย์ก็อาจจะให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ถ้าพบในเด็กอายุมากกว่า 12 ปี หรือผู้ใหญ่ แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสที่มีชื่อว่า อะไซโคลเวียร์ ซึ่งจะเห็นผลดีภายใน 24 ชั่วโมงหลังตุ่มขึ้น
แม้ว่าโรคอีสุกอีใจจะเป็นโรคที่หายเองได้ แต่ก็ต้องเฝ้าระวังการรักษา ในเด็กโตและสตรีมีครรภ์ อาจจะมีอาการรุนแรงและเกิดโรคแทรกซ้อนได้ทางที่ดีที่สุดควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสนี้ตั้งแต่อายุ 1 ปี เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสนี้ไว้ได้
Leave a Reply