Tag: ยีน
-
ทีมนักวิจัยอเมริกัน ทดลองบำบัดโรคหัวใจล้มเหลว ด้วยยีน
ทีมนักวิจัยอเมริกัน ทดลองบำบัดโรคหัวใจล้มเหลว ด้วยยีน ทีมนักวิจัยอเมริกันวางแผนจะทดลองทางคลินิคเพื่อทดสอบการบำบัดโรคหัวใจล้มเหลววิธีใหม่ด้วยยีนโดยการบำบัดแบบใหม่นี้จะช่วยลดขนาดหัวใจที่พองโตลงมาและช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น คนที่หัวใจล้มเหลวจะขาดยีนที่ทำงานได้อย่างเต็มที่ เรียกว่ายีน sumo-1 ซึ่งเป็นยีนที่ช่วยในการควบคุมระดับเเคลเซี่ยมที่ไหลเวียนเข้าออกในเซลล์ในห้องหัวใจที่เป็นตัวปั๊มเลือดไปทั่วร่างกาย ในการทดลองหลายหนกับสุกรทดลองที่เป็นโรคหัวใจล้มเหลว นายแพทย์โรคหัวใจ โรเจอร์ ฮัจจาร์ แห่งวิทยาลัยการแพทย์เม้าท์ไซไน (Mount Sinai School of Medicine) ในมหานครนิวยอร์ค ค้นพบว่า การถ่ายยีน sumo-1 เพียงครั้งเดียวเข้าไปในหัวใจสุกร ช่วยให้หัวใจของสัตว์ทดลองทำงานได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อาการหัวใจล้มเหลวเป็นสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งของความเจ็บป่วยและการเสียชีวิตทั่วโลก หัวใจล้มเหลวเป็นอาการที่หัวใจอ่อนแรงและพองโตขณะที่ต้องทำงานหนักเพื่อปั๊มเลือดให้ไหลเวียนไปทั่วร่างกายอย่างเพียงพอ อาการหัวใจวาย อาการความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษา หรือ อาการหลอดเลือดอุดตันจากไขมันเส้นเลือด อาจกลายเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหัวใจล้มเหลวได้ ผู้ป่วยส่วนมากจะเสียชีวิตภายในห้าปีหลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ที่ศูนย์วิจัยโรคหัวใจที่วิทยาลัยการแพทย์เม้าท์ไซไนได้ค้นพบยีนอีกตัวหนึ่งที่เรียกว่า SERCA2 ที่ทำหน้าที่ควบคุมการไหลเวียนของเเคลเซี่ยมในเซลล์หัวใจเช่นกัน การทดลองรักษาโรคหัวใจล้มเหลวในคนด้วยการบำบัดดัวยยีน SERCA2 ได้ผลดีคล้ายกับการบำบัดด้วยยีน sumo-1 แพทย์เชื่อว่าการถ่ายยีนทั้งสองตัวเข้าไปในหัวใจผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลวพร้อมๆกันอาจจะช่วยให้ได้เกิดผลดีแก่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสองเท่าตัว ในการบำบัดหัวใจล้มเหลวด้วยยีนวิธีใหม่นี้ ทีมนักวิจัยจะใช้เชื้อไวรัสไข้หวัดธรรมดาที่ไม่เป็นอันตรายเป็นพาหะนำยีน sumo-1กับยีน SERCA2 เข้าไปสู่หัวใจของผู้ป่วย