7 วิธีป้องกันกระดูกพรุนเมื่อเข้าสู่วัยชรา

7 วิธีป้องกันกระดูกพรุนเมื่อเข้าสู่วัยชรา

จะเห็นได้ว่าเมื่อคนสูงอายุกันมากขึ้น ร่างกายจะดูเตี้ยลง หลังค่อมและขาโก่งขึ้น บางคนแค่เพียงประสบอุบัติเหตุลื่นหกล้มหรือโดนกระแทกเบา ๆ กระดูกก็หักแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากภาวะกระดูกพรุนหรือกระดูกบางตัวลงนั่นเอง กระบวนการนี้เกิดจากการที่กระดูกเรามีการสร้างตัวและสลายตัวออกมาในรูปของแคลเซียมเข้าสู่กระแสเลือดตลอดเวลา หากร่างกายได้รับแคลเซียมไม่มากพอก็จะสูญเสียมวลกระดูกไปเรื่อย ๆ จนกระดูกบางในที่สุด

ในเด็กจะมีการสร้างมวลกระดูกมากกว่าสลายตัว กระดูกจึงแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงจุดสูงสุดเมื่ออายุ 30-35 ปี แล้วหลังจากนั้นก็จะค่อย ๆ บางตัวลงเพราะมีการสลายตัวมากกว่าสร้าง ยิ่งผู้หญิงด้วยแล้วยิ่งมีการสลายตัวมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า เนื่องจากภาวะของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงในวัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน การดูแลสุขภาพของกระดูกจึงควรเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนอายุ 30 ปี หากพ้นจากนี้แล้วร่างกายจะไม่สามารถสะสมเนื้อกระดูกให้แข็งแรงได้

การป้องกันกระดูกพรุนจึงควรเตรียมพร้อมไว้ดังต่อไปนี้
1. ทานอาหารที่มีแคลเซียมให้มาก ไม่ว่าจะเป็น นม โยเกิร์ต ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งฝอย กระดูกอ่อนของสัตว์ เต้าหู้แข็ง ถั่วแดง ผักใบเขียว ทานสลับกันไปทุกวัน เพราะการจะมีกระดูกแข็งแรงได้นั้นมิได้อาศัยแต่เพียงแคลเซียมอย่างเดียว แต่ต้องการสารอาหารที่หลากหลายด้วย
2. ควรหมั่นออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนัก เช่น การเดิน การวิ่ง การขึ้นลงบนได กระโดดเชือก เต้นแอโรบิก เพราะกระตุ้นให้ร่างกายดูดแคลเซียมให้มากขึ้น และควรทำอย่างเป็นประจำด้วยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละประมาณครึ่งชั่วโมงเป็นต้นไป
3. ในส่วนของอาหารไม่ควรทานเนื้อสัตว์มากเกินไป เพราะโปรตีนจะกระตุ้นให้ไตขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากผิดปกติได้
4. ลดเค็มลด เพราะเกลือโซเดียมจะทำให้การดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้ลดลง และไตต้องขับแคลเซียมมากขึ้น
5. งดดื่มน้ำอัดลม เพราะร่างกายต้องป้องกันไม่ให้ฟอสฟอรัสสูงเกินไป จึงต้องสลายแคลเซียมจากกระดูกออกมาจนอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
6. งดการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน งดการสูบบุหรี่ เพราะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมได้อีก
7. รวมไปถึงระวังการใช้ยาบางชนิดก็มีส่วนในการขับแคลเซียมออกจากร่างกายด้วย ไม่ว่าจะเป็นสเตียรอยด์ ยากล่อมประสาท ยาลดกรด การใช้ยาเหล่านี้ต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์เท่านั้น